นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า  เบื้องต้นได้ประเมินผลจากนโยบายที่ไทยเตรียมเปิดพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. นี้ คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในกรุงเทพฯ 1 -1.5 แสนรายต่อเดือน สัดส่วนประมาณ 3-5 % เมื่อเทียบจากช่วงเวลาปกติที่ไม่มีสถานการณ์โควิด -19 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯประมาณ 3 ล้านรายต่อเดือน เนื่องจากกรุงเทพฯเป็นฐาน ที่จะสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้

ทั้งนี้เฉลี่ยแล้วนักท่องเที่ยวแต่ละรายจะใช้เวลาท่องเที่ยวประมาณ 8-10 วันต่อทริป ค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณ 50,000 บาท จากนโยบายนี้จะส่งผลให้มีเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวไตรมาส  4 (ต.ค. – ธ.ค. 64) หรือประมาณ 2 เดือนครึ่ง ประมาณ 2 -3 หมื่นล้านบาท กระตุกเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.1-0.2% และส่งผลให้ต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 64 อยู่ใกล้กรอบ 1% ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องติดตามสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิดว่า จะทำให้นักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นมากเท่าไร    

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนเห็นว่าเป็นการดีที่เรียกความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้ ถ้าเปิดได้ ก็จะทำให้ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของทั้งคนไทยและต่างชาติกลับมา แต่ต้องมีมาตรการรองรับเพิ่มเติมที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้การระบาดกลับมารุนแรง  โดยในเดือนก.ย.และต.ค.นี้ ตามแผนที่ทางภาครัฐได้ประกาศมา ไทยจะมีวัคซีนทยอยเข้ามาจำนวนมาก โดยตอนนี้แต่ละพื้นที่ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในการช่วยกระจายวัคซีนไปยังกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงผู้ประกอบการแต่ละราย ก็เตรียมความพร้อมเพื่อรับการเดินทางจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

แม้ว่าตอนนี้จำนวนสัดส่วนการฉีดวัคซีนของประชาชนในแต่ละจังหวัดยังไม่มากนัก แต่เชื่อว่าเราน่าจะสามารถช่วยกันเร่งได้ แต่ถ้ามีการแพร่ระบาดของโควิด -19 สายพันธ์ใหม่ จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่โดยที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังต้องมีการควบคุมให้ทำตามมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น ทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน