กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐ จัดทำโปรแกรมการฝึกอบรม และการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้สาธารณะ เพื่อช่วยให้ประชาชนเตรียมพร้อมตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้ ซึ่งระบุถึงหลักปฏิบัติพื้นฐาน “หนี ซ่อน สู้” พร้อมรายละเอียดเพิ่มเติมจากผู้ฝึกสอนการเอาตัวรอดจากมือปืนกราดยิง เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และผู้มีประสบการณ์ในหน่วยรบพิเศษต่าง ๆ

โดยทั่วไป คนที่ไม่เคยได้ยินเสียงปืนมาก่อน มักจะเปรียบเทียบมันกับเสียงจุดระเบิดนอกกระบอกสูบของรถยนต์ หรือเสียงของประทัด แต่การยิงปืนในสภาพแวดล้อมแบบปิด เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือห้องเรียน มีความแตกต่างอย่างชัดเจน และสิ่งแรกที่ควรทำเมื่อได้ยินเสียงดังกล่าว คือ ออกห่างจากต้นทางของเสียงนั้นในทันที

ที่มา : washingtonpost

หากคุณอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ “การหนีออกนอกอาคาร” เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งสิ่งที่ควรทำระหว่างการวิ่งหนี คือ การสังเกตสิ่งรอบข้างเป็นระยะ เพื่อหาช่องทางที่ช่วยให้ออกจากอาคารได้เร็วที่สุด และไม่ทำให้ตัวเองอยู่ในพื้นที่โล่ง โดยหน้าต่างก็ถือเป็นทางออกฉุกเฉินเช่นกัน แต่ตัวเลือกนี้เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ชั้นที่ 2 และมีระเบียงด้านนอก หรือพื้นที่รองรับด้านล่าง เพราะการลงมาจากชั้นที่สูงกว่านี้ อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บได้ นอกจากนี้ ผู้ที่หลบหนีไม่ควรกระทำการใด ๆ ที่ดึงดูดความสนใจของผู้ก่อเหตุ และพยายามนั่งยอง หรือก้มตัวลงตํ่า เมื่อผ่านกระจก เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นเป้าสายตาของคนร้ายด้วย แต่ถ้าคุณอยู่ในบริเวณจุดเกิดเหตุ และไม่สามารถหนีออกจากห้องหรืออาคารได้ในทันที

ที่มา : washingtonpost

สิ่งที่ควรทำคือ “หลบซ่อน” และซื้อเวลา เพื่อวางแผนหาทางหนีแบบอื่น รอเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเตรียมรับมือในกรณีที่ผู้ก่อเหตุบุกเข้ามา ผู้ที่ติดอยู่ในห้องควรล็อกประตู และนำสิ่งของที่มีขนาดใหญ่และหนักมาขวางไว้อีกชั้น เพื่อเสริมความแข็งแรง ตลอดจนปิดหน้าต่าง ปิดไฟในห้อง และปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ จากนั้นจึงหาที่กำบังที่แข็งแรง มีหลายชั้น หรือหนาพอที่จะหยุดกระสุนปืนได้

โดยระหว่างการซ่อนตัว ผู้ที่หลบอยู่ควรคิดแผนเอาชีวิตรอด ติดต่อหาเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเตรียมรับมือความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หากคุณต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกับผู้ก่อเหตุ และไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว “การสู้กลับ” ถือเป็นตัวเลือกที่อันตรายและมีความเสี่ยง แต่มันอาจเป็นวิธีเพิ่มโอกาสรอดชีวิตเช่นกัน เมื่อเผชิญกับคนร้าย ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ควรสร้างความวุ่นวายให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การขว้างปาสิ่งของที่หยิบได้การส่งเสียงรบกวน และพยายามไม่อยู่กับที่ให้กลายเป็นเป้านิ่ง หรือใช้กลยุทธ์อย่างการหลบในจุดบอด และเข้าจู่โจมโดยที่อีกฝ่ายไม่ทันตั้งตัว

ที่มา : washingtonpost

มีเป้าหมายหลัก คือ การโจมตีจุดสำคัญ เช่น ศีรษะ ดวงตา ลำคอ หรือกลางลำตัว รวมถึงการปลดอาวุธให้อยู่ห่างจากคนร้าย และไม่ควรถืออาวุธไว้เอง เพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจเข้าใจผิด นอกเหนือจากหลักปฏิบัติพื้นฐาน “หนี ซ่อน สู้” แล้ว การเตรียมพร้อม ความตื่นตัว และปัจจัยอื่น ๆ ก็มีส่วนสำคัญในการช่วยให้เอาชีวิตรอดจากเหตุการณ์กราดยิงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการรู้เส้นทางหลบหนีต่าง ๆ ของอาคาร, การไม่ตื่นตระหนกต่อสถานการณ์ และการร่วมมือกับผู้ประสบเหตุคนอื่น เป็นต้น.