ชวนมองสำรวจพฤติกรรมความรุนแรงในสังคม นำความรู้การจัดการความเครียดจับสัญญาณเครียดเพื่อลดแรงกดดันโดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ให้ความรู้ประเด็นนี้ว่า พฤติกรรมความรุนแรงถ้ามองเป็นหมวดใหญ่ ๆ ที่ปรากฏมีความรุนแรง ทางด้านร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการยกพวกตีกัน ทำร้ายร่างกายกัน บูลลี่ที่ไม่ใช่พูดจา แต่ลงไม้ลงมือทะเลาะวิวาทกัน ฯลฯ ซึ่งก็มีให้เห็นมานานแต่ระยะหลังดูจะหนักขึ้น ทั้งมีรูปแบบซับซ้อนและมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทางด้านจิตใจกับอารมณ์ เกิดภาวะซึมเศร้า บางทีออกมาในรูปแบบแยกตัวเองและอีกรูปแบบใช้ความรุนแรงซ่อนด้วยความซึมเศร้า เป็นภาวะทางจิตใจและอารมณ์ อีกประเภท ความรุนแรงทางด้านเพศ กลุ่มนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นใหญ่และมีมากขึ้น ทั้งยังมีไซเบอร์บูลลี่เป็น ความรุนแรงด้านไซเบอร์ มีการยั่วยุผ่านทางโซเชียลมีเดีย เฟคนิวส์ ซึ่งเยอะและเด็กก็เข้าถึง และอีกประเด็น ความรุนแรงในมิติสังคม โครงสร้างใหญ่ ๆ ที่ฉายภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้น

วิธีสังเกตพฤติกรรมความรุนแรง

เรื่องใหญ่ ๆ คือ ทัศนคติที่ไม่ตรงกัน ระบบที่มีปัญหาและความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยตรง พฤติกรรมความรุนแรงสังเกตได้จากพฤติกรรมเชิงอารมณ์ เช่น มุทะลุดุดันง่าย ระเบิดอารมณ์ง่ายหรือมีกิจกรรมการเล่นที่เข้ากับอารมณ์ มีวิธีการจัดการอารมณ์ค่อนข้างรุนแรง รังแกผู้ที่ด้อยกว่า รังแกน้องอย่างไร้เหตุผล รังแกสัตว์เลี้ยงหรือมีเรื่องทะเลาะวิวาทบ่อย ใช้ความรุนแรงกับคนนั้นคนนี้ ลักษณะนี้กำลังซ่อนเงื่อนพฤติกรรมความรุนแรงกำลังสะท้อนอยู่คนที่ใกล้ชิดต้องสังเกต

วัดระดับ “เขียว เหลือง แดง”

แน่นอนว่าความรุนแรงเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ขณะที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นหรือเมื่อเด็กซึมซับความรุนแรงต่าง ๆ ไม่ได้เป็นความสุข แต่เป็นความเครียด การสังเกตความเครียด ประเมินความเครียดมีสเกลวัด นำมาประเมินเบื้องต้นได้ ทั้งนี้ คนทุกคนมีความเครียดเกิดขึ้นได้ อย่างเช่น การทำงานก็มีความเครียด แต่ทันทีที่ทำงานเสร็จ สามารถจัดการตัวเองได้ ไม่มีอาการตกค้างใด ๆ ความเครียดนี้เรียกว่าความเครียดเฉพาะหน้าเกิดขึ้นเฉพาะกิจตรงนั้นแล้วมลายสูญไป ความเครียดลักษณะนี้จะขึ้น สเกลสีเขียว เป็นความเครียดในภาวะปกติ

แต่เมื่อใดก็ตาม ความเครียดเริ่มสะสมส่งผลต่อการดำเนินชีวิตต่อร่างกายเช่น ปวดหัว กินไม่ได้นอนไม่หลับ ปั่นป่วนปวดท้องมีอาการไม่สบาย ร่างกายกำลังส่งสัญญาณว่าความเครียดขึ้นในระดับ สีเหลือง แต่ถ้าไม่อยากพบปะใคร เริ่มแยกตัวเอง มีความรู้สึกโลกไม่ยุติธรรม ฯลฯ บวกกับอาการทางกายเป็น สเกลสีแดง ถ้าขึ้นสเกลสีแดงและถ้าสมาชิกในครอบครัวมองเห็นพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง มีวิธีจัดการอารมณ์ที่ใช้ความรุนแรง แยกตัวเองไม่สุงสิงกับใคร อยู่ในโลกของความเป็นส่วนตัว พูดคุยกันไม่ได้ ฯลฯ สิ่งนี้กำลังส่งสัญญาณเตือนว่า ต้องรีบปรึกษาแพทย์ ไม่ละเลย เพราะอาจมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น อาจเป็นการทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่น และจากระดับสีเหลืองต้องหยุดเหตุและปัจจัย พักสมอง บริหารความเครียดลดลงมาในระดับสีเขียว

“ทุนชีวิต” พลังสร้างภูมิคุ้มกัน

การจัดการความเครียดมีหลายวิธี การพูดระบายความไม่สบายใจออกมา มีคนรับฟังและฟังอย่างมีสติ รับฟังอย่างตั้งใจ โอบไหล่ใช้กายสัมผัสก็เป็นการส่งพลังใจช่วยให้ความเครียดบรรเทา หรือผู้รับฟังอาจลองชวนพูดคุยบางประเด็น มีอะไรที่พอช่วยได้บ้างมั้ย ต้องการให้ช่วยเหลือด้านใดหรือก่อนจบบทสนทนาอาจถามว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร สบายใจขึ้นบ้างมั้ย ฯลฯ แต่หากสิ่งที่สะท้อนออกมายากเกินความสามารถคงต้องพบกับผู้รู้ พบนักจิตวิทยา จิตแพทย์ และนอกจากการพูดคุย ยังมีการใช้ศิลปะ ดนตรี การออกกำลังกาย ทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อลดคลายเครียดซึ่งศูนย์คุณธรรมเรามีแอปพลิเคชัน Moral Touch อีกช่องทางให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่สามารถเข้าถึงความรู้

“ทุนชีวิต”เป็นหัวใจสำคัญเป็นพลังสร้างภูมิคุ้มกัน ทุนชีวิตคือคุณสมบัติพื้นฐานของมนุษย์ที่มีผลต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจ สังคมสติปัญญาเกื้อหนุนให้เติบโตและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง ปรับตัวและเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงได้ ประกอบด้วย 5 พลังคือ พลังตัวตน พลังครอบครัว พลังเพื่อนและกิจกรรม พลังสร้างปัญญาและพลังชุมชน ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตมีสุข มีจิตสำนึก มีทักษะการอยู่ร่วมกันและมีมิตรไมตรีเอื้ออาทรต่อกัน.