สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอเรื่อง “ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 66” ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเมื่อวันที่ 3 ต.ค.66 ประกอบด้วยสาระที่น่าสนใจคือ

1.สถานการณ์ด้านแรงงาน มีผู้มีงานทำจำนวน 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.7 เนื่องจากการขยายตัวของสาขานอกภาคเกษตรกรรม ขณะที่ภาคเกษตรกรรมหดตัวเล็กน้อยจากปี 65 เนื่องจากภาวะภัยแล้ง ส่วนค่าจ้างแรงงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยค่าจ้างในภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 15,412 และ 14,023 บาทต่อคนต่อเดือน และอัตราการว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น ลดลงจากปี 65 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.06 หรือมีผู้ว่างงาน 4.3 แสนคน

2.หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 1 ปี 66 มีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) อยู่ที่ร้อยละ 90.6 ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยหนี้เอ็นพีแอลมีมูลค่า 1.44 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.68 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.62 ของไตรมาสก่อน โดยมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ หนี้เสียและความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3.การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากโรคที่มากับฤดูฝน ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก ขณะที่ปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนไทย (ความเครียด เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟ) เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 19.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 12.76

4.การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 โดยการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 0.1 ขณะที่การบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เนื่องจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเม.ย. ทำให้บริโภคแอลกอฮอล์มากขึ้น

5.ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พบว่ามีการรับแจ้งคดีอาญารวม 88,719 คดี ลดลงร้อยละ 17.8 จากไตรมาสเดียวกันของปี 65 (มีคดีอาญา 104,108 คดี) โดยคดียาเสพติดลดลง แต่คดีชีวิตร่างกายเพศคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้น

6.การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.5 จากช่วงเดียวกันของปี 65 โดยการร้องเรียนสินค้าและบริการผ่านสคบ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.1 เป็นการร้องเรียนด้านสัญญามากที่สุด ขณะที่การร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. ลดลงร้อยละ 40.5 เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด

ทางด้านสถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ 1.การย้ายถิ่นช่วงโควิด-19 ปี 63-65 ส่งผลให้มีการย้ายถิ่นของประชากรเคลื่อนย้ายจากแหล่งงานใน กทม.-ปริมณฑลจังหวัดตลาดแรงงาน ไปยังพื้นที่อื่น เนื่องจากโรงงานและสถานประกอบการปิดกิจการ จำนวน 2.1 ล้านคน มีผลต่อการคาดหวังให้แรงงานดังกล่าวกลับมาชดเชยการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

2.จัดการซากรถยนต์อย่างไร? เมื่อรถไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้น มีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยคิดเป็นร้อยละ 10 ของรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมด คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 34 ในปี 73 จะส่งผลให้รถยนต์สันดาปมีการเลิกใช้งานเป็นจำนวนมาก โดยปี 65 มีรถยนต์ถูกเลิกใช้งานกว่า 2.7 แสนคัน ขณะที่รถยนต์ที่ใช้งานปัจจุบันมากกว่า 5 ล้านคัน เป็นรถยนต์อายุมากกว่า 20 ปี ดังนั้นการมีซากรถยนต์หรือรถเลิกใช้งานเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่เหมาะสม

3.LGBTQ+ : หลากหลายที่ไม่แตกต่าง เพื่อเปิดกว้างสู่ความเสมอภาคทางเพศ ข้อมูลจาก LGBT Capital2 และ Ipsos3 ปี 66 คาดว่าไทยจะมีจำนวนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ประมาณ 5.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 59 ที่มีจำนวน 4.2 ล้านคน ส่วนหนึ่งเกิดจากสังคมไทยมีการยอมรับและเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

——————-
พยัคฆ์น้อย