ซึ่งในเมื่องานศพมีความถี่เพิ่มมากขึ้น แต่ละงานศพที่จัดนั้นจึงมีการสร้างคาร์บอนให้โลกนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ไปเพิ่มดีกรีของภาวะโลกเดือด ถ้าเช่นนั้นแล้วเราจะมีวิธีลดคาร์บอนจากงานศพได้อย่างไรบ้าง ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ก็มีแนวทางมาให้พิจารณากัน ดังต่อไปนี้ …

1.เลือกวัดใกล้บ้าน เพราะหากเป็นวัดที่อยู่ห่างไกลจากบ้าน ก็จะต้องทำให้ผู้จัดงานและญาติพี่น้องต้องขับรถเดินทางไปกลับกันหลายรอบ ซึ่งแต่ละรอบของการเดินทางนั้น ก็สร้างคาร์บอนให้กับโลกใบนี้พอสมควร

2.เลือกวัดที่ใกล้ระบบขนส่งสาธารณะ ที่สามารถทำให้ผู้ร่วมงานสามารถเดินทางไปกลับได้สะดวก และเดินทางไปงานศพด้วยยานยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนตํ่า

3.เลือกวัดที่ใช้เตาเผาไฟฟ้า ที่ได้ตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งมีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 โดยทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้เตาเผาศพเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปลดปล่อยอากาศเสียสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งการปล่อยควันหรืออากาศเสียสู่บรรยากาศก็จะต้องได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนดของกรมควบคุมมลพิษ โดยได้มีการบังคับใช้ในพื้นที่เขตเมือง อย่างพื้นที่ กทม. เมืองพัทยา รวมถึงในพื้นที่ของเทศบาลนครและเทศบาลเมือง ซึ่งเตาเผาตามมาตรฐานปกติจะต้องมี 2 ห้องเผา ทั้งห้องเผาศพและห้องเผาควัน ที่มีการควบคุมอุณหภูมิให้พอดี ให้สามารถเผาไหม้ได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังต้องประหยัดพลังงาน และควรแยกวัสดุแปลกปลอม เช่น พวงหรีด โฟม พลาสติก วัสดุตกแต่งโลงศพที่ไม่จำเป็นออกไปให้หมดก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของการเผา

4.เลือกใช้พวงหรีดรักษ์โลก โดยนอกจากดอกไม้แล้ว ปัจจุบันยังมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น กระดาษรีไซเคิล ที่พิมพ์ลวดลายดอกไม้มาใช้ทดแทนพวงหรีดแบบเดิม หรือเลือกใช้พวงหรีดต้นไม้ ที่เมื่อเสร็จงานแล้วยังสามารถนำไปปลูกเพื่อดูดซับคาร์บอนชดเชยที่เราปล่อยไป

5.เลือกใช้ธูปไร้ควัน โดยขณะนี้ได้มีการรณรงค์การใช้ธูปเทียนไร้ควันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งวัดบางแห่งนั้นได้เปลี่ยนไปใช้ธูป LED แทนที่ธูปรูปแบบเดิม เพื่อช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอน

6.เสิร์ฟอาหารออร์แกนิกในงานศพ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนรอบ ๆ บริเวณวัด โดยควรเลือกใช้ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำจากโฟมหรือพลาสติก เพื่อที่จะลดขยะเหลือทิ้งให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

7.แจกของชำร่วยคาร์บอนตํ่า เช่น หลายคนเลือกแจกหนังสือธรรมะ e-Book ที่แค่สแกนก็สามารถอ่านได้แล้ว โดยไม่ต้องจัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์ที่เรามีอยู่แล้วทุกบ้าน

8.ใช้ภาชนะบรรจุกระดูกลอยอังคารรักษ์โลก เช่น ภาชนะแบบละลายในนํ้าได้ เพื่อไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์นํ้า

ทั้งนี้ จากการสำรวจทั่วประเทศนั้น ในประเทศไทยมีจำนวนเตาเผาศพทั้งสิ้นราว 26,000 เตา ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นเตาเผาประสิทธิภาพตํ่า โดยปกติแล้วการเผาศพ 1 ครั้ง ในเตาเผามาตรฐานจะสร้างคาร์บอนได้ทั้งหมดประมาณ 120 กิโลกรัม ซึ่งเท่ากับเราจะต้องปลูกต้นไม้ถึงจำนวน 6 ต้น เพื่อดูดซับคาร์บอนเป็นเวลา 1 ปี นี่ยังไม่นับรวมคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากผู้คนที่เดินทางมาร่วมงานศพ ซึ่งเมื่อคำนวณคร่าว ๆ แล้ว เราน่าจะต้องปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยอย่างน้อย 10-20 ต้นต่อการจัดงานศพ 1 งาน ด้วยเหตุนี้ ทำให้ในเวลานี้จึงมีผู้พยายามคิดค้นวิธีใหม่ ๆ ในการเผาศพแบบรักษ์โลก เช่น การใช้สารเคมีเหลวเพื่อละลายศพได้ภายในเวลา 20 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่า “อัลคาไลน์ไฮโดรไลซิส” ซึ่งช่วยลดคาร์บอนได้กว่า 5 เท่า โดยนวัตกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นใหม่ ๆ ทุกวัน จนนำมาสู่คำถามสำคัญของเราเองว่า…ก่อนที่จะจากโลกใบนี้ไปนั้น วันนี้เราเตรียมตัวเรื่องงานศพรักษ์โลกแล้วหรือยัง?.