ทีมข่าว “1/4 Special Report” จึงคุยกับนักเศรษฐศาสตร์ระดับอดีตรัฐมนตรี ทั้ง นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ อดีตรมว.พลังงาน ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรมว.คลัง รวมทั้งนักวิชาการอย่าง รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับมุมมองต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่ทะยานสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง และจะมีผลกระทบในภาพรวมทางเศรษฐกิจปี 65 อย่างไรบ้าง
หนี้ครัวเรือนสูงเป็นตัวถ่วงการใช้จ่าย
นายพิชัยกล่าวว่าปัจจัยหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ไม่ใช่มีสาเหตุมาจากโควิด-19 ระบาดเท่านั้น แต่มาจากปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวในระดับต่ำมาตลอด 7 ปี ซึ่งหมายความว่ารายได้ของประเทศลดลง ประชาชนจึงต้องมีรายได้ลดลงด้วย ทำให้ประชาชนมีรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ ต้องไปกู้ยืมเงินเพื่อประคองชีวิตตนเองและครอบครัว ในอดีตก่อนการรัฐประหารปี 57 เรามีหนี้ครัวเรือนเพียง 78% ของ “จีดีพี” แต่หลังรัฐประหาร จนกระทั่งมาถึงช่วงโควิด-19 หนี้ครัวเรือนไทยได้พุ่งขึ้นมาก
ปัญหาใหญ่ของประเทศในขณะนี้คือเศรษฐกิจไม่ขยายตัว จีดีพีต่ำ แต่หนี้เพิ่มมาก จึงเป็นสาเหตุของหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูง โดยหนี้ครัวเรือนถ้ามองจากใจที่เป็นธรรม ต้องบอกว่าคนไทยมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนได้มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่มันก็สะท้อนความจริงออกมาอย่างเด่นชัดถ้าเศรษฐกิจย่ำแย่
ปัญหาของหนี้ครัวเรือนที่สูงจะเป็นตัวถ่วงการใช้จ่าย และการบริโภคเพื่อเพิ่มจีดีพี แต่เมื่อหนี้ที่สูงจะทำให้ธนาคารไม่ปล่อยกู้ เพราะกลัวปัญหาหนี้เสียตามมาภายหลัง ประชาชนผู้ยากจนจึงต้องหันไปพึ่งพาอาศัยเงินกู้นอกระบบ ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยแบบรายวันในอัตราที่สูง ดังนั้นจะมีประเภทการตามทวงหนี้แบบโหด ๆ จนมีการฆ่าตัวตายจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันคนไทยมีสถิติการฆ่าตัวตายสูงอย่างน่าเป็นห่วงในช่วง 2-3 ปีนี้ โดยส่วนใหญ่มีปัญหาจากเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ตกงาน ไม่มีรายได้ หรือรายได้ไม่ดี มีภาระหนี้สินทั้งในระบบ และหนี้นอกระบบ
แต่ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวดี หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดลง รัฐบาลต้องหาทางสร้างรายได้ให้กับประชาชน สร้างธุรกิจใหม่ สร้าง “กิ๊ก อิโคโนมี” เยียวยาผู้ลำบาก แต่ถ้าธุรกิจที่แย่ก็มีส่วนทำให้หนี้ครัวเรือนสูง เพราะคนตกงาน คนรายได้ลด สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ เป็นสาเหตุหลัก
ปี 65 หนี้นอกระบบพุ่ง–ตกงานเยอะ!
โดยผลของหนี้ครัวเรือนสูงทำให้เกิดหนี้นอกระบบ ตนเคยเตือนล่วงหน้าแล้วว่าจะทะลุ 90% ในเร็ว ๆ นี้ แต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้คนออกมาเถียงว่าไม่ถึง! แต่สุดท้ายแล้วต้องให้คนกลางอย่างศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ออกมาเตือนว่าระดับหนี้ครัวเรือนอาจเพิ่มขึ้นถึง 93.0% ในสิ้นปี 64 เนื่องจากหนี้ทุกตัว (5 หนี้) หนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน หนี้ธุรกิจ หนี้ในระบบ หนี้นอกระบบ ล้วนมีความสัมพันธ์กันทั้งหมด โดยวิธีการแก้หนี้คือการสร้างรายได้ แต่ไม่ใช่เอาหนี้ไปจ่ายหนี้ อย่าไปคิดได้แค่เปิดโรงรับจำนำ ซึ่งหมดยุคแล้ว เพราะตอนนี้ไม่มีใครมีทรัพย์สินที่มีมูลค่าไปจำนำแล้ว
ดังนั้นสิ่งที่น่าห่วงมาก ๆ ในปีหน้า คือ 1.กำลังซื้อภายในประเทศจะมีน้อยมาก การบริโภคจะลดลง (หนี้เยอะ) คนจะไม่กล้าซื้อ ไม่จับจ่ายใช้สอย 2.ประชาชนต้องหันมากู้นอกระบบมากขึ้น การทวงหนี้จะรุนแรง มีการบาดเจ็บ ล้มตาย การฆ่าตัวตาย อาชญากรรมพุ่งสูง เรียกว่ากลายเป็นปัญหาทางสังคมอย่างต่อเนื่อง
3.จากปัญหาหนี้ครัวเรือน จะลามไปยังหนี้ธุรกิจ ส่งผลทำให้มีคนตกงานมากขึ้น 4.การที่ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯหลายบริษัทอาจจะมีกำไรอยู่ แสดงให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยได้อย่างชัดเจนขึ้น คือยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังรวย แต่เป็นความร่ำรวยที่สวนทางกับจีดีพีตกต่ำ และยังมีคนจนอีกจำนวนมาก และ 5.รัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีนดี ๆ ให้กับเมืองท่องเที่ยว ถ้าต้องการเปิดประเทศรับเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว แต่ช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา คนเชียงใหม่เพิ่งได้ฉีดวัคซีนประมาณ 30% เท่านั้น ขณะเดียวกันคนไทยยังต้องอยู่กับโควิด-19 กลายพันธุ์กันต่อไป ดังนั้นรัฐบาลต้องรีบหาวัคซีนทันสมัย “โนวาแวกซ์” ไม่เช่นนั้นปี 65 คนไทยจะลำบากอย่างแสนสาหัสกันอีก
“ผู้นำ” ต้องเปลี่ยนกรอบความคิด–ทัศนคติ
ขณะที่ศ.ดร.สุชาติกล่าวว่า ตนขอฝากความเห็นไว้ 5 ประเด็น คือ 1.ช่วงปี 62-64 ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยมีอัตราเร่งที่เร็วมาก จากปี 62 ที่อยู่ประมาณ 80% ของจีดีพี พุ่งขึ้นมาเกิน 90% ในไตรมาส 1/64 ภายในสิ้นปี 64 คงจะไปถึง 93% โดยส่วนตัวมองว่าหนี้ครัวเรือนไทยจะไปถึง 100% ตราบใดที่รัฐบาลยังบริหารเศรษฐกิจผิดพลาด และยังไม่เปลี่ยนตัวผู้นำ
2.หนี้ครัวเรือนไทย ไม่เหมือนกับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนในยุโรป ซึ่งคนในยุโรปมีรายได้สูงกว่าคนไทย และหนี้ของคนยุโรป หรือประเทศอื่น ๆ เขาเป็นหนี้มากจากการซื้อทรัพย์สิน เช่น บ้าน ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ รวม ๆ แล้ว 60-70% ส่วนอีก 30% เป็นหนี้หมุนเวียนเพื่อการกิน-ใช้ แต่โครงสร้างหนี้ของคนไทยสลับกับคนยุโรป
3.ดังนั้นเราจึงไปเปรียบเทียบกับคนยุโรปไม่ได้ เพราะเขามีรายได้ต่อหัวประชากรสูงกว่าเรา แต่คนไทยยังยากจนเยอะ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายจากปัจจัย 4 ก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว ไหนลูก ๆ จะต้องเรียนหนังสือ ตรงนี้จึงกลายเป็นปัญหา เป็นปัญหาจาก “จีดีพี” โตต่ำมาก เฉลี่ยปีละประมาณ 2% ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่ควรจะโตได้ถึง 6%
4.หลังจากนี้รัฐบาลต้องเลิกเปิด ๆ ปิด ๆ เป็นบางจังหวัด ถ้าเดือนต.ค.นี้จะเปิดการท่องเที่ยวเพิ่มอีกหลายจังหวัด ก็ไม่ควรหันหลังกลับไปปิดอีก ต้องเดินไปข้างหน้า อย่าสั่งปิดร้านอาหาร ห้ามสั่งปิดแค่ 20.00 น. เนื่องจากร้านอาหารที่มีกำไรมา 4-5 ปี แต่ถ้าคุณไปสั่งปิดร้านแค่ 1-2 เดือน เขาจะขาดทุนทันที พนักงานจะตกงาน หนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้น
5.ผู้นำประเทศต้องเปลี่ยนแปลงกรอบความคิด ต้องเปลี่ยนทัศนคติ อย่าเห็นประชาชนเป็นพลทหาร ต้องเลิกเอากระสุนยาง-แก๊สน้ำตาออกมายิงประชาชน เพราะนักลงทุนทั่วโลกเขาเห็นสภาพแบบนี้ ใครเขาจะมาลงทุนในประเทศไทย? ซึ่งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติไหลออกจากประเทศไทยจำนวนมาก ขณะเดียวกันคนไทยก็ขนเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศเป็นจำนวนมากเช่นกัน ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดทบทวนให้ดี
คาดต้องใช้เวลาถึงปี 70 เศรษฐกิจฟื้น!
ทางด้าน รศ.ดร.กิริยา กล่าวว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนของคนไทยในปัจจุบันน่าจะสูงกว่านี้ เพราะไม่มีหน่วยงานไหนรู้จริงว่า “หนี้นอกระบบ” มีมากแค่ไหน เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจซบเซามาก่อนโควิด-19
ดังนั้นการที่ภาคครัวเรือนมีหนี้สูง จึงเป็นเหมือน “ระเบิดเวลา” ลูกใหญ่มาก เป็นความเสี่ยงในระยาวต่อระบบเศรษฐกิจ โดยนักเศรษฐศาสตร์มองว่าถ้าสภาพยังเป็นแบบนี้อาจต้องใช้เวลาถึงปี 2570 กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 คือปัจจุบันยังมองไม่ออกกันว่าปี 65 จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น เมื่อไหร่การท่องเที่ยวจะฟื้นแล้วมีนักท่องเที่ยวกลับมาปีละ 40 ล้านคน อุตสาหกรรมใหม่จะออกมารูปแบบไหน จะมีการจ้างงานได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหลังจากนี้เราคงมองเฉพาะจีดีพีไม่ได้ แต่ต้องมองเรื่องการจ้างงาน เพื่อให้คนมีงานทำและมีรายได้ก่อน
ปัจจุบันคนไทยกำลังอยู่ในภาวะ “หนี้ท่วมหัว” จึงชะลอการใช้จ่าย ทั้งของแพง และสินค้าคงทน เช่น รถยนต์จะขายยากมากขึ้น การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเหล่านี้คงช้ามาก เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ ปัญหาหนี้เสียจะลุกลามมากขึ้น แต่เราจะเห็นว่าภาครัฐ หรือสถาบันการเงิน พยายามจัดโครงการหยุดหนี้-ยืดหนี้-พักหนี้ เป็นแค่ช่วงเวลาแต่ถ้าหมดเวลาของโครงการเมื่อไหร่ ปัญหาการฟ้องร้องตามมามากมายแน่ ๆ
“เนื่องจากแม้จะหยุดหนี้-ยืดหนี้-พักหนี้ แต่ “ดอกเบี้ย” ยังวิ่งตลอด สุดท้ายสถาบันครอบครัวต้องหาทางออกด้วยการลดการลงทุน คือลดการลงทุนระยะยาวในเรื่องการศึกษาของลูก ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาของเด็กตกต่ำไปด้วย ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐต้องตระหนักคือเมื่อครัวเรือนมีปัญหาหนี้ก้อนใหญ่ ก็ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ (แฮร์ คัท)ในภาคครัวเรือนก่อน อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน ไม่เช่นนั้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลานานขึ้น” รศ.ดร.กิริยา กล่าว.