ทั้งนี้ ถึงทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะไม่สะท้อนต่อข้อมูลเรื่องนี้ในวันนี้ ชาวพุทธไทยก็รับรู้กันดีว่าทุกวันนี้ทั้ง วัดวาอาราม พระภิกษุสงฆ์ ตลอดจนสามเณร กำลัง “เกิดปัญหาวิกฤติศรัทธา…อย่างน่าเป็นห่วง!!” ซึ่งองค์กรต่าง ๆ ทั้งในส่วนของสงฆ์ ของรัฐ “จำเป็นต้องใส่ใจปัญหานี้”…

ไทยยุคนี้เรามี “นายกรัฐมนตรีไหว้สวย”

ก็จะดีแน่ถ้าจะ “ช่วยผลักดันแก้ปัญหา”

ให้ “ไหว้ผู้อยู่ในผ้าเหลืองได้สนิทใจขึ้น”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ปัญหาวงการผ้าเหลือง” ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง จน “กระทบศรัทธาชาวพุทธ” นั้น เป็นอีกเรื่องเร่งด่วน เป็นเรื่องที่องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งสร้างความชัดเจนในการจัดการแก้ไข-ป้องกันปัญหา หลังสังคมไทยเกิด “วิกฤติศรัทธา” กับ “พระในยุคโซเชียล” ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ใน วารสารพุทธนวัตกรรมและการจัดการ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 เดือน ม.ค.-ก.พ. 2566 ก็มีการเผยแพร่บทความวิชาการเรื่อง “วิกฤติการณ์ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระสงฆ์ไทยและแนวทางการสร้างศรัทธาของพระสงฆ์ในยุคโซเชียล” โดย พระสมุห์ธณัฐพล ธมฺมสโร และ พระเเมนรัตน์ จตฺตมโล ซึ่งน่าพินิจ…

งานวิชาการสงฆ์ชิ้นนี้ฉายภาพวิกฤติศรัทธาแวดวงสงฆ์ โดยสังเขปมีว่า… วิกฤติศรัทธาประชาชนที่มีต่อพระสงฆ์ไทยเวลานี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากข่าวในภาพลบที่มีพระสงฆ์ประพฤตินอกพระธรรมวินัยและทำให้ชาวโลกติเตียน ซึ่งปรากฏให้เห็นบ่อย ๆ ในข่าว หรือออนไลน์ต่าง ๆ ทำให้ จำเป็นต้องมีแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤติศรัทธาพระสงฆ์ไทย ที่จะต้องอาศัยหลายภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ ซึ่งประกอบด้วย… 1.คณะสงฆ์ ที่จะต้องสอดส่องพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในปกครอง 2.ประชาชน ที่จะต้องมีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ไม่ถือมงคลตื่นข่าวหรือเสพสื่อโดยขาดการไตร่ตรอง 3.นโยบายจากมหาเถรสมาคม เพื่อรณรงค์ให้มีความเข้าใจในพระธรรมวินัย และในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

เช่นนี้จึงจะ “แก้ไขวิกฤติศรัทธา” ได้…

และในบทความดังกล่าวยังมีข้อมูลในส่วน “ข้อเสนอแนะ” แนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤติศรัทธาที่ประชาชนมีต่อพระสงฆ์ โดยได้ระบุไว้ว่า… ต้องทำอยู่ในฐานของความมีปัญญาด้วย เพราะเมื่อขาดปัญญาจะไม่มีการพิจารณาเหตุและผล ซึ่งแนวทางในการสร้างศรัทธาให้เกิด อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก คือ… 1.ในส่วนของพระสงฆ์ 2.ในส่วนของประชาชน 3.ในส่วนของนโยบาย ซึ่งในแต่ละส่วนนั้นก็จะมีรายละเอียดและแนวทางต่าง ๆ ในการแก้วิกฤติศรัทธาเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้…

ในส่วนพระสงฆ์ ในระดับวัดนั้น เจ้าอาวาสหรือพระสังฆาธิการมีหน้าที่ต้องสอดส่องพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่อยู่ในปกครองของตน ให้ประพฤติตามพระธรรมวินัย ควบคุมพฤติกรรมให้สอดคล้องกับกฎกติกาที่เป็นกฎกติกาของวัดและนโยบายทางพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ รวมถึงมีการอนุวัติตามกฎหมายที่เป็นกฎหมายทั่วไปด้วย ขณะที่ในส่วนพระภิกษุ สามเณร ก็ต้องละอายและเกรงกลัวต่อบาปอกุศล ไม่ประพฤติล่วงเกินสิกขาบท และไม่ประพฤติผิดวินัยสงฆ์

ในส่วนประชาชน ต้องมีวิจารณญาณในการเสพสื่อ สื่อออนไลน์ มีศรัทธาที่มั่นคงในพุทธศาสนา ถือหลักคำสอนทางพุทธเป็นหลัก และ ในส่วนนโยบาย ต้องมีนโยบายโดยมหาเถรสมาคม ไม่ว่าจะข้อบังคับที่สอดคล้องพระธรรมวินัย นโยบายที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และควรออกข้อกำหนดให้พระภิกษุสามเณรสร้างศรัทธาจากประชาชน ไม่ว่าจะจากการแสดงธรรม หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้ประชาชนและพระสงฆ์มีส่วนร่วมปฏิบัติธรรมร่วมกัน เป็นต้น …ซึ่งเหล่านี้น่าจะ…

ช่วย “เสริมสร้างศรัทธาจากประชาชน”

นอกจากนั้น ในบทความ “วิกฤติการณ์ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระสงฆ์ไทยและแนวทางการสร้างศรัทธาของพระสงฆ์ในยุคโซเชียล” ยังได้เสนอ แนวทางแก้ไขปัญหาสำหรับหน่วยงานพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นทางออกเพื่อการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น เอาไว้ดังนี้… ประการหนึ่ง การพิจารณาที่ต้องชัดเจนและโปร่งใส เมื่อพบกรณีที่พระสงฆ์ประพฤติผิด ทั้งกฎหมายบ้านเมือง และพระธรรมวินัย เนื่องจากส่วนใหญ่เมื่อเกิดปัญหาหรือข้อร้องเรียนแล้ว ในส่วนของการระงับอธิกรณ์ หรือการพิจารณาความผิด มักจะใช้พระวินัยอยู่ 2 ข้อคือ การพิจารณาต่อหน้าสงฆ์ (สัมมุขาวินัย) และการปกปิดไว้ (ติรวัตถารกวินัย) ซึ่งล้วนก่อให้เกิดความสงสัยแก่ประชาชนทั่วไป ทำให้สังคมรู้สึกคลางแคลงใจพระสงฆ์

อีกประการหนึ่ง คือ การรณรงค์ อบรม ทำความเข้าใจ ให้ความรู้ ซึ่งมาตรา 37 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2561 ระบุถึงหน้าที่เจ้าอาวาสไว้ข้อหนึ่งว่า… ต้องปกครองสอดส่อ

ให้บรรพชิตที่พำนักในวัดปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และตามกฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งมหาเถรสมาคม และเป็นธุระศึกษาอบรมสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งเนื่องจากเมื่อเกิดกรณีพระสงฆ์ประพฤติผิดพระวินัย มักจะมองเป็นเรื่องตัวบุคคล ฉะนั้นนอกจากรณรงค์ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง พระธรรมวินัย ก็ยังต้องสนับสนุนให้รู้ในเรื่อง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ด้วย …เหล่านี้คือ “ข้อเสนอ”…

เกี่ยวกับ “อีกโจทย์ใหญ่ที่รอการแก้”

โจทย์ “วิกฤติศรัทธาต่อวงการสงฆ์”

ที่ “ต้องเร่งกู้ศรัทธาชาวพุทธไทย”.