ทั้งนี้ จากสถานการณ์แวดวงสีกากีหรือ “แวดวงตำรวจไทย” จาก 2 เหตุใหญ่ครึกโครมดังที่ทราบ ๆ กัน โดยที่มีตำรวจ-มีชื่อตำรวจเกี่ยวโยงอยู่ในเหตุเพียบ!! นี่ก็ยิ่งทำให้สังคมไทยตั้งปุจฉาถึง จริยธรรมตำรวจ” กับ “ปฏิรูปตำรวจ” และก็มี “ปุจฉาถึงรัฐบาลชุดใหม่” ด้วย…

รัฐบาลใหม่มีแนวทางอะไร?-อย่างไร?

กับ “ตำรวจ” กรณี “จริยธรรม?-ปฏิรูป?”

จะ “ลูบหน้าปะจมูก? แล้วเงียบไปมั้ย?”

ทั้งนี้ กับ 2 เหตุใหญ่อื้ออึงที่เกี่ยวโยงกับตำรวจ ก็รอดูกันต่อไปว่าจะมีบทสรุปแบบไหน?-เช่นไร? อย่างไรก็ตาม หากจะดูกันในภาพรวม ๆ เกี่ยวกับกรณี “จริยธรรมตำรวจ” ผนวกกับกรณี “ปฏิรูปตำรวจ” หรือการ “ปฏิรูปจริยธรรมวิชาชีพตำรวจ” แล้วล่ะก็…วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็พลิกแฟ้มชวนดูเรื่องนี้กันอีก ซึ่งเป็นในเชิงวิชาการ มิได้เฉพาะเจาะเจงที่เคสใด

กับเรื่องการ “ปฏิรูปจริยธรรมวิชาชีพตำรวจ” นั้น เรื่องนี้นี่ก็ “มีงานวิจัยโฟกัสไว้” ซึ่ง ณ ที่นี้นำข้อมูลมาสะท้อนต่อ-สะท้อนย้ำโดยสังเขปซึ่งก็มิใช่ว่าเพิ่งจะมีงานวิจัยจริยธรรมตำรวจแต่มีมานานมากแล้ว โดยหนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจที่ก็มีมานานแล้วคือ โครงการศึกษาวิจัย “จริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ (Ethics of the Policemen’s Profession)” โดยคณะที่นำโดยนายตำรวจคือ ดร.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ ขณะยศพล.ต.ต. ภายใต้การสนับสนุนของ สกสว. ซึ่งมีการเผยแพร่รายงานวิจัยไว้ตั้งแต่ปี 2556 ที่ได้ระบุวัตถุประสงค์การศึกษาวิจัยไว้ชัดเจนว่า… เพื่อศึกษาถึงการปฏิบัติตามจริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ หรือ…

ปัญหาการปฏิบัติตามจริยธรรมวิชาชีพ

สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้…เป็นงานวิจัยที่อยู่ภายใต้ชุดโครงการวิจัย “จริยธรรมในวิชาชีพ” ที่ได้มีการศึกษาและวิเคราะห์เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพต่าง ๆ จำนวน 11 วิชาชีพ รวมถึงวิชาชีพ “ตำรวจ” ด้วย ซึ่งก็น่าจะฉายภาพได้ชัดว่า“จริยธรรมก็เป็นหัวใจสำคัญของวิชาชีพตำรวจ” โดยการศึกษาวิจัยจริยธรรมในวิชาชีพตำรวจดังกล่าวนี้ มีกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตำรวจในแต่ละภาคของไทย รวมถึงประชาชนที่เป็นผู้เสียหาย ผู้ที่ใช้บริการตำรวจ ผู้ที่เป็นผู้ต้องหา ซึ่งสิ่งที่พบนั้นโดยสังเขปมีดังนี้คือ…

“ประเด็นปัญหาจริยธรรมของตำรวจ” ที่ได้มีการศึกษาวิจัยพบ ประกอบด้วย… ปัญหาจริยธรรมด้านการบริการประชาชน ซึ่งผลศึกษาวิจัยพบว่า… บางครั้งในการปฏิบัติงาน ตำรวจไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างตรงไปตรงมา จากปัจจัย อาทิ ภาวะกดดัน ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอิทธิพล และจากการ มีผลประโยชน์ตอบแทน เป็นต้น, ปัญหาจริยธรรมด้านอำนวยความยุติธรรม ที่พบว่า… มี ตำรวจที่ไม่ได้มีการพัฒนาความรู้กฎหมายใหม่ ๆ จนส่งผลทำให้…

ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้จริง

นอกจากนี้ อีกประเด็นปัญหาน่าสนใจคือ… ปัญหาจริยธรรมด้านความประพฤติส่วนตัว ซึ่งในประเด็นนี้ได้สะท้อนทัศนคติกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช่ตำรวจ ที่มีต่อตำรวจที่มีปัญหาจริยธรรม โดยกลุ่มตัวอย่างคิดว่าตำรวจนั้น… มักมีปัญหาชู้สาว หรือภรรยาน้อย, มักใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย, มักแสดงความเป็นใหญ่ หรือแสดงความเป็นนักเลงเสียเอง, มักประพฤติผิดหรือทำผิดกฎหมายเสียเอง, มักใช้ทรัพย์สินราชการทำประโยชน์ส่วนตัว, มักใช้เวลางานหาประโยชน์ให้ตนเอง และ มักทำตัวรับใช้นักการเมือง ผู้มีเงิน ผู้มีอิทธิพล …ซึ่ง ณ ที่นี้ก็ต้องขอเน้นย้ำชัด ๆ ไว้ว่านี่เป็นผลศึกษาวิจัยกลุ่มตัวอย่าง

มิได้หมายถึงตำรวจทั้งหมดเป็นดังที่ว่า

อย่างไรก็ตาม กับประเด็น “สาเหตุที่อาจทำให้ตำรวจละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ” นั้น…ผลศึกษาวิจัยดังกล่าวได้ค้นพบว่า… เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ… เกิดจากการ แต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ความก้าวหน้าไม่ได้ขึ้นกับความสามารถ, ขาดจิตใจในการให้บริการประชาชน หรือบริการสังคม, ค่าตอบแทนน้อย จึงใช้หน้าที่แสวงหาประโยชน์, ปัญหาค่านิยมและระบบ ที่ปฏิบัติต่อ ๆ กันมา, ขาดมาตรการตรวจสอบและลงโทษที่บังคับใช้ได้อย่างจริงจัง และก็เกิดได้จากการ ถูกแทรกแซง ทั้งจากผู้มีอิทธิพล และนักการเมือง ด้วย …ทั้งนี้ ในรายงานวิจัยชิ้นนี้ก็ได้เสนอทางแก้ปัญหาไว้ด้วย กล่าวคือ…

“แนวทางแก้ปัญหาจริยธรรมตำรวจ” ได้แก่… พิจารณาเกณฑ์สรรหาผู้เข้ารับราชการให้เหมาะสม, ปรับปรุงหลักสูตรอบรมข้าราชการตำรวจให้มีคุณภาพ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน, สร้างขวัญกำลังใจ ทั้งเงินเดือน สวัสดิการ อุปกรณ์ปฏิบัติหน้าที่ ความก้าวหน้าในวิชาชีพ, เสริมสร้างวัฒนธรรมที่ดีขององค์กรตำรวจ และ เพิ่มบทลงโทษตำรวจที่ละเมิดจริยธรรม รวมถึง ป้องกันการแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพล และนักการเมือง ด้วย

นี่เป็นข้อเสนอแนะที่มีมานับสิบปีแล้ว!!

ล่วงเลยมาถึงปี 2566… ยามนี้ “สถานการณ์แวดวงสีกากีเซ็งแซ่ประดุจหนังแนวเกมเฉือนคมหักเหลี่ยม??” เกิดขึ้นอีก…อีกทั้งเซ็งแซ่ยิ่งกว่าที่ผ่าน ๆ มาในอดีต!! สังคมไทยนอกจาก “รอดูตอนจบ??” แล้ว…ก็ยัง“รอดูรัฐบาล??” ด้วย

เมื่อมีปุจฉาว่า…“ปฏิรูปตำรวจยังเหลว!!”

“จริยธรรมตำรวจ” ยุคนี้ “ยิ่งถูกกังขา??”

“รัฐบาลใหม่” นั้น “จะทำอะไรบ้าง???”.