กัมพูชาคือเพื่อนบ้านประเทศแรก ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 66 ถือเป็นการเยือนเพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ในประเทศอาเซียนครั้งแรกของนายกฯ รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ระดับผู้นำ ในโอกาสที่นายกฯไทย และนายกฯกัมพูชาเข้ารับตำแหน่งใหม่

นายชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาล บอกว่านายกฯเศรษฐาจะหารือกัมพูชาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเพิ่มปริมาณการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 68 ผลักดันการยกระดับจุดผ่านแดนที่ยังคั่งค้าง รวมถึงการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางของทั้งสองประเทศ ผลักดันการท่องเที่ยวและการเดินทางข้ามแดน

นอกจากนี้จะติดตามเรื่องการพัฒนาพื้นที่ชายแดน อาทิ การแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การเก็บกู้ทุ่นระเบิด ความร่วมมือทางด้านแรงงาน และความมั่นคงทางพลังงาน เป็นต้น

จากข้อมูลสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในปี 65 แจ้งว่าไทยและกัมพูชามีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 340,721 ล้านบาท เป็นมูลค่าการค้าชายแดน 198,315 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 64 ที่ 17.24% และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า

โดยข้อมูลเดือน พ.ย. 65 มีสินค้าส่งออกขนผ่านด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ไปยังกัมพูชาคิดเป็นมูลค่า 9,007 ล้านบาท นำเข้า 2,396 ล้านบาท ด่านคลองใหญ่ จ.ตราด ส่งออก 2,285 ล้านบาท นำเข้า 454 ล้านบาท ด่านจันทบุรี ส่งออก 1,731 ล้านบาท นำเข้า 204 ล้านบาท และด่านช่องจอม จ.สุรินทร์ ส่งออก 501 ล้านบาท นำเข้า 127 ล้านบาท

อีกเรื่องสำคัญที่ “พยัคฆ์น้อย” อยากให้ผู้นำไทยกัมพูชา รีบเจรจาหารือกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว และเดินหน้าไปบนผลประโยชน์ของประชาชนสองประเทศ คือ การพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกัมพูชา เพื่อขุดก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบขึ้นมาใช้งาน ดีกว่าปล่อยให้จมอยู่ใต้ท้องทะเลไว้อย่างนั้น

ปัจจุบันไทยใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนกว่า 50% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยแหล่งก๊าซฯที่สำคัญมาจากอ่าวไทย รวมทั้งนำเข้าก๊าซฯจากเมียนมา

แต่ขณะนี้ปัญหาก๊าซฯในอ่าวไทยที่ขุดมากว่า 30 ปี ค่อย ๆ หร่อยหรอลงไป ไม่พอกับความต้องการ จึงต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากตะวันออกกลาง เพื่อมาผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้นทุนค่าไฟสูงขึ้นจาก 2-3 บาท/หน่วย (ก๊าซฯอ่าวไทย) กลายเป็น 5-10 บาท/หน่วย ขึ้นอยู่กับราคาขึ้น ๆ ลง ๆ ของ LNG

นอกจากนี้ก๊าซฯในอ่าวไทย เป็นก๊าซฯที่มีคุณภาพ จึงนำไปเข้าโรงแยกก๊าซฯ ซึ่งตอนนี้ไทยมี 6 โรง และกำลังก่อสร้างโรงที่ 7 เพื่อต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมปิโตรเคมี-ผลิตเม็ดพลาสติก ที่มีมูลค่ามหาศาล

ที่สำคัญแหล่งก๊าซฯในพื้นที่ทับซ้อน น่าจะมีในปริมาณเท่ากับหรือมากกว่าแหล่งก๊าซในอ่าวไทยที่ขุดกันมากว่า 30 ปี คิดเป็นมูลค่าก๊าซฯ และน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนมากกว่า 10 ล้านล้านบาท สามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก 6-20 เท่า ขึ้นอยู่กับชนิดของก๊าซฯและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เรียกว่าจะเก็บค่าภาคหลวง-ภาษีได้อีกเพียบ!

ถ้าไม่รีบเจรจา ไม่รีบขุดขึ้นมาใช้ ต่อไป “พลังงานฟอสซิล” จะถูกแอนตี้มากขึ้น เพราะสังคมโลกกำลังตื่นตัวสูงเรื่องลดคาร์บอน ลดโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ลามมาถึงสินค้าส่งออกแล้ว!!

—————–
พยัคฆ์น้อย