ทางผู้ที่ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง “วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง” ทั้งในเมืองหลวง เมืองใหญ่ เมืองรอง เมืองเล็ก เมืองชนบท ทั่วประเทศไทย ก็คงรอดูว่ารัฐบาลจะมีการสนับสนุนหรือส่งเสริมทางอาชีพอะไรใหม่ ๆ อย่างไร? โดยสำหรับในกรุงเทพฯ ในส่วนของ กทม. นั้น ล่าสุดแว่ว ๆ ว่าก็จะมีมาตรการช่วยเหลือ…ก็รอดูกัน  …ในขณะที่ต้องยอมรับว่า…ทั่วไทยนั้น “มอเตอร์ไซค์รับจ้างกลายเป็นอีกหนึ่งประเภทรถโดยสารที่อยู่ ๆ ไม่มี…ยุ่งแน่!!”   

อย่างไรก็ตาม กับ “วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง” โดยเฉพาะ ในเขตพื้นที่เมืองใหญ่ ต่าง ๆ รวมถึง ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น…ก็ “สะท้อนมิติทางสังคม” ซึ่งแม้เป็นปรากฏการณ์ที่มีมานาน…แต่ถึงวันนี้ก็ยัง “ฉายภาพชีวิตคนในเขตพื้นที่เมือง”…

ทั้ง “การใช้ชีวิต-วิธีเดินทาง” ประจำวัน

“บริบทเมือง” ที่ “ทำให้มีวินเกิดขึ้นมา”

โดยที่ “สะท้อนปัญหาของเมืองด้วย!!”

ทั้งนี้ วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับ “รถโดยสารส่วนตัว 2 ล้อ” ดังกล่าวนี้…ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจในบทความโดย ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง ที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เมืองให้ประชาชนมีสุขภาพกายและใจที่ดี โดยความร่วมมือระหว่าง สสส. และ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกับเรื่องนี้ได้มีการสะท้อนไว้ผ่านบทความชื่อว่า…

“วินมอเตอร์ไซค์สะท้อนอะไรกับเมือง?”

ข้อมูลในบทความนี้ได้ระบุไว้ว่า… “รูปแบบการเดินทาง” สามารถ “สะท้อนว่าเมืองนั้นมีสภาพเป็นเช่นไร?” ซึ่งสำหรับ พื้นที่กรุงเทพฯ นั้นพบว่า… “วินมอเตอร์ไซค์-จักรยานยนต์รับจ้าง” คือ “ตัวเลือกอันดับแรก ๆ” ที่ผู้คนเลือกใช้ โดยปัจจัยที่ทำให้เป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ก็มาจากเรื่องของ “ความรวดเร็ว” เมื่อเทียบกับการเดินทางรูปแบบอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม แต่รูปแบบการเดินทางนี้ก็ทำให้ “เกิดคำถาม?” เช่นกันว่า…วินมอเตอร์ไซค์เหล่านี้สะท้อนอะไรกับเมืองที่อาศัยอยู่?

กับประเด็นดังกล่าวนี้ในบทความข้างต้นก็ได้มีการฉายภาพผ่านชุดข้อมูลเอาไว้ว่า… หากพิจารณาจาก จำนวนการให้บริการ ของ “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” ก็พบว่า… มอเตอร์ไซค์รับจ้างได้มีการให้บริการกับประชาชนสูงถึง 45.1% ซึ่งถือเป็น สัดส่วนที่สูงที่สุดของการให้บริการขนส่งสาธารณะทางถนน และนอกจากนั้น เสียงสะท้อนผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ยังระบุถึง “เหตุผลที่เลือกใช้บริการ” ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้…1.เลือกใช้เพราะความสะดวกในการเรียก 2.เพราะเป็นระบบการเดินทางหลักในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ และ 3.เลือกใช้เพราะเป็นความเคยชิน …นี่เป็นข้อมูลที่สะท้อนจาก “ผู้ใช้บริการ”

ส่วน“ปัจจัย” ทำให้การเดินทางด้วย “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” กลายมาเป็น“ระบบขนส่งสาธารณะหลัก” ให้กับ“คนเมือง” นั้น ในบทความก็ได้มีการระบุไว้ว่า… มีสาเหตุจากการเข้าไม่ถึงระบบขนส่งสาธารณะรอง โดยระยะการเดินที่เหมาะสมของคนไทยควรอยู่ที่ประมาณ 500-800 เมตร ทว่าในความเป็นจริงจุดหมายการเดินทางในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ อยู่ไกลเกินจากระยะที่จะสามารถเดินได้ ประกอบกับไม่มีบริการขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้สะดวก ด้วยเหตุนี้ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือ“วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง” …นี่เป็นข้อมูลที่มีการสะท้อนไว้…กับประเด็น“เพราะเหตุใด?” บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างจึง…

“เป็นระบบเดินทางหลัก” ของคนกรุง

ขณะที่ การจราจรที่หนาแน่นและขาดเสถียรภาพ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็เป็นอีก “ปัจจัย” ที่ทำให้ผู้ใช้บริการ “จำเป็นต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง” โดยมองว่าคุ้มค่าในสถานการณ์นี้ “แม้ต้องยอมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ” ก็ตาม!!

และอีก “ปัจจัย” ที่ก็น่าสนใจ…ที่ทำให้ “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” ได้กลายเป็น “ทางเลือกการเดินทางยอดฮิต” ของคนกรุงเทพฯ… ในบทความ “วินมอเตอร์ไซค์สะท้อนอะไรกับเมือง?” โดย ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง ระบุไว้ว่า…นั่นคือ ปัญหาทางเท้าไม่มีคุณภาพ ทั้ง ๆ ที่ “ทางเดินเท้า” หรือฟุตบาธนั้นถือว่า “เป็นองค์ประกอบสำคัญของเมือง” และก็ยัง “เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการพัฒนาเมือง” อีกด้วย ซึ่งจากการที่ทางเท้าส่วนใหญ่ยังไม่ได้คุณภาพ…จึงไม่สนับสนุนการใช้งานด้วยการเดิน จน“ทางเท้าที่มีไม่ใช่ทางเลือกที่ดีของการเดินทางในเมือง” โดยเฉพาะ“เมื่อเทียบกับมอเตอร์ไซค์”

ข้อมูลในบทความที่น่าสนใจยังทิ้งท้ายไว้ว่า… “จำนวนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง” และ “จำนวนผู้ใช้บริการ” นั้น…ยังเป็น “ตัวชี้วัดสำคัญ” ที่ช่วยสะท้อน-ฉายภาพให้เห็น “ปัญหาของเมือง” ว่า… มีสิ่งใดที่ขาดหายไปท่ามกลางการพัฒนาเมือง? ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถนำไปพิจารณาเพื่อที่จะเติมเต็ม“สิ่งที่ขาดหายไป” ให้กับเมืองได้ …ทั้งนี้ ต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นอีกหนึ่ง “ภาพสะท้อน” จากกรณีของ “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” ที่นอกจากควรจะมีการ “เติมเต็มรายได้ให้กับผู้คนในอาชีพนี้” แล้ว ยังสะท้อนไปถึง “ปัญหาของเมือง” ที่จำเป็น “ต้องได้รับการเติมเต็ม-อุดช่องว่าง เพื่อลดปัญหา-ป้องกันปัญหา”ด้วย…

โฟกัสกรุงเทพฯ แต่ก็สะท้อนถึงเมืองอื่น ๆ

“พัฒนาเมือง” นั้น “ทำแยกส่วนไม่ได้”

จำเป็น “ต้องขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ”

“แก้ปัญหาเมืองต้องเกาให้ครบที่คัน”.