แม้จะคุ้น ๆ กับการกล่าวลักษณะนี้…

แต่ก็เรียกเสียงชื่นชมจากสังคมไทยได้

ส่วนในทางปฏิบัติจะอย่างไรต้องรอดู??

ถึงแม้จะเรียกเสียงชื่นชมมากโขจาก “คำมั่นสัญญา” เรื่อง“ปราบยาเสพติด” แต่ก็มิวายมีคำถามจากผู้คนไม่น้อย… จะทำวิธีไหนสังคมไทยจึงจะปลอดยาเสพติด? จะทำได้จริงหรือไม่? โดยเฉพาะกับ “ยาบ้า” ที่ขณะนี้ “แทรกซึมอยู่แทบจะทุกพื้นที่” โดยวันก่อน ผบ.ตร. คนที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง ก็ออกปากฝาก ผบ.ตร. คนใหม่ เรื่องปราบยาบ้า ที่แม้ที่ผ่านมาจับได้มากขึ้น…แต่ปัญหาก็ไม่แผ่วลง เพราะ “หาง่าย-ราคาถูก” ซึ่งการระบุของทางตำรวจดังกล่าวนี้ก็สะท้อนชัดว่า “ปัญหานี้ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น” เมื่อเทียบกับในอดีต…ที่ไทยก็เคยประกาศสงครามกับยาเสพติด …และนี่ก็โยง “ปุจฉายุครัฐบาลใหม่”…

ก็จะเหมือนหรือจะต่างกับยุคอดีต??

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนดู“สถานการณ์ยาบ้า” จากที่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลน่าตกใจในหลาย ๆ ประเด็นไว้ ผ่าน รายงานสุขภาพคนไทย ประจำปี 2566 โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยในรายงานนี้นอกจากนำเสนอตัวชี้วัดสำคัญที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสังคมที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางและแนวโน้มสุขภาพคนไทยแล้ว ยังมีการเผยถึงข้อมูลด้าน“ปัญหายาเสพติดของประเทศไทย” โดยเฉพาะในประเด็นที่ “เกี่ยวข้องกับกลุ่มเยาวชน” ซึ่งเน้นที่ยาเสพติดประเภท “ยาบ้า” เป็นหลัก จากการที่พบว่า… “ยาบ้าคือสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม”…

อาชญากรรมรายวัน…ยึดโยง “ยาบ้า”

ข้อมูลในรายงานนี้ระบุไว้ว่า… ทางองค์การสหประชาชาติก็มอง “ยาเสพติด” เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่าง ๆ หลายด้าน อาทิ… ปัญหาสาธารณสุข ทำให้สุขภาพผู้เสพทรุดโทรมอ่อนแอ จนกระทบต่อระบบสมองและประสาท, ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้รัฐต้องสิ้นเปลืองงบประมาณดูแลผู้ป่วยยาเสพติด กับทำให้ขาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพ, ปัญหาสังคม ส่งผลทำให้สังคมเสื่อมโทรม และมีความขัดแย้งระหว่างผู้เสพกับคนทั่วไป, ปัญหาอาชญากรรม ที่เกิดจากผู้เสพต้องการเงินเพื่อนำไปซื้อยาเสพติด จนเกิดปัญหาอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ…

หลากหลายปัญหายึดโยงยาเสพติด!!…

โดย “ในไทย” นั้น “ยาบ้าก่อปัญหามาก”

สำหรับใน ประเทศไทย ในรายงานดังกล่าวได้มีการอ้างอิงข้อมูล กรมสุขภาพจิต จากสถิติผู้ป่วยที่มาเข้ารับบริการด้านจิตเวช ปี 2564 ที่พบว่า… ไทยมีผู้ป่วยจิตเวชที่เสพติดยาบ้ามากถึง 155,631 คน!!! ส่วนผู้ป่วยที่เสพยาเสพติดประเภทอื่น ๆ มีอยู่ประมาณ 204,984 คน โดยผู้ป่วยจิตเวชจากการเสพยาเสพติดที่เข้าสู่กระบวนการรักษาในแต่ละปีนั้น พบว่า… ผู้ป่วยกลุ่มนี้ครึ่งหนึ่งเคยเป็นผู้ก่อเหตุความรุนแรง ซึ่งก็ทำให้สังคมระแวง…ไม่รู้ว่าวันใดจะต้องเผชิญหน้ากับทาสยา??

นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าวยังอ้างอิงรายงานของ ป.ป.ส. เพื่อฉายภาพให้เห็นถึงสถานการณ์ โดยพบว่า…ในปี 2564 ไทยมีคดียาเสพติด 130,543 คดี มีผู้ต้องหา 132,675 คน ซึ่งแม้จำนวนคดีจะลดลงจากปี 2563 แต่ “ของกลางยาเสพติดมีปริมาณเพิ่มขึ้น” ซึ่ง “ยาบ้าครองอันดับ 1” โดยมีแนวโน้มปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆซึ่งสะท้อนว่า ยาเสพติดในไทยมีปัญหาการระบาดรุนแรงขึ้น และระดับพื้นที่ เช่น หมู่บ้าน ชุมชน การแพร่ระบาดยังไม่มีแนวโน้มลดลง ที่สำคัญยังพบว่า…มียาเสพติดแพร่ระบาดลงไปในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง!! ที่ทำให้ปัญหายาเสพติดแก้ยากมากขึ้น

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ปัจจัยกระตุ้นทำให้วัยโจ๋ไทยติดยาบ้าเพิ่มมากขึ้น” นั้น ในรายงานได้เผยถึงผลศึกษาหัวข้อนี้ไว้ว่า… มาจากหลายสาเหตุ ได้แก่… สภาพแวดล้อมทางสังคมและในชุมชน, ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ, ปัญหาค่านิยมความเชื่อทางสังคม และ จากอิทธิพลทางการเมืองก็ด้วย?? นอกจากนั้นยังมีสาเหตุจากสถานการณ์เสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำให้เด็กและเยาวชนไทยมีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะหลุดเข้าสู่วังวนยาเสพติด อาทิ ปัญหาการหย่าร้างในครอบครัว, อิทธิพลจากกลุ่มเพื่อน, พฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่ค่านิยมที่ผิด เช่น อยากมีเงิน-อยากรวย…จึงผันตัวเป็นผู้ค้ายาเสพติด นี่ก็น่าเป็นห่วงมาก!!

และในรายงานดังกล่าวข้างต้นก็ยังได้สะท้อนข้อมูลไว้ด้วยว่า… อีกปัจจัยที่ทำให้ยุคนี้ “วัยรุ่นเข้าสู่วงจรยาเสพติดง่ายขึ้น” มากกว่าในอดีต มีสาเหตุจาก“ยาเสพติดมีราคาถูกลง” กับ “มีผู้ค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น” ซึ่งพบว่า… ขบวนการยาเสพติดได้หันมาเน้นเป้าหมายที่กลุ่มเด็กอายุไม่เกิน 17 ปี ที่เมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับกุมได้ก็จะได้รับโทษที่ไม่มากเท่ากับผู้ใหญ่ ทำให้ในระยะหลัง ๆ มานี้ “ในไทยมีนักค้ายาวัยโจ๋มากขึ้น!!” โดยส่วนที่ผันตัวจากผู้เสพเป็นผู้ค้าด้วยนั้นมีไม่น้อย…

นี่เป็น “สถานการณ์ที่อันตรายของไทย”

ก็ “รอดูฝีมือรัฐบาลใหม่ + ผบ.ตร.ใหม่”

ว่า “จะแก้ไขอันตรายนี้ได้ดีแค่ไหน??”.