คดีพ่อแท้ๆฆ่าลูกตัวเอง จากรายแรกจนนำไปสู่ความจริงสุดสลด เมื่อแท้จริงมีมากถึง 5 ราย และล้วนแต่เป็น“เด็กเล็ก”สั่นสะเทือนใจคนทั้งประเทศกับชะตากรรมที่ความช่วยเหลือนั้น“สายเกินไป”สำหรับเด็กทั้ง 5 คน

เป็นภาพบทเรียนที่ชัดกว่าทุกคำพูด…ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว  โดยเฉพาะเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับเด็กๆที่ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้

“ทีมข่าวอาชญากรรม”ชวนสำรวจสถานการณ์ของเด็กในประเทศไทย พบว่าเฉพาะกลุ่มเด็ก(อายุ 0-17ปี) จากข้อมูลกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ในปี 2565 มี 12,544,609 คน เทียบกับปี 2564 ถือว่ามีจำนวนลดลง

ส่วนข้อมูลการคุ้มครองเด็ก 5 สาเหตุที่เข้ารับบริการมากสุด ได้แก่ 1.เด็กอยู่ในสภาพยากลำบาก 2.เด็กที่ผู้ปกครองไม่สามารถอุปการะเลี้ยงดูได้ 3.เด็กที่ผู้ปกครองมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม/ประกอบอาชีพไม่เหมาะสม 4.ฝากชั่วคราวอื่นๆ และ5.ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ทั่วโลกโดยข้อมูลองค์การอนามัยโลก(WHO) พบว่าแต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการบาดเจ็บมากกว่า 630,000 คน หรือวันละ 1,726 คน หรือชั่วโมงละ 72 คน

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย สถิติระหว่างปี 2558-2562 มีเด็กเสียชีวิตจากการถูกทำร้าย รวม 158 คน เฉลี่ยปีละ 32 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.2-0.4 ต่อประชากรแสนคน โดยกลุ่มอายุ 10-14 ปี เสียชีวิตสูงที่สุด และภาคใต้มีการเสียชีวิตสูงสุด

ส่วนสถานการณ์ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ระหว่างปี 2556-2562 พบเป็น“เด็กที่ถูกทารุณกรรม” (ทางร่างกาย  ทางจิตใจ และทางเพศ) จำนวน 1,536 คน ส่วนใหญ่เป็นกรณีการทารุณกรรมทางเพศ 

ขณะที่“เด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงภายในครอบครัว” (ทางร่างกาย  ทางจิตใจ ทางเพศ) จำนวน 1,791 คน ส่วนใหญ่เป็นกรณีกระทำความรุนแรงทางร่างกาย     

ปี 2556-2562เด็กถูกทารุณกรรม (คน)
ร่างกาย377
จิตใจ66
เพศ1,093
 เด็กถูกกระทำรุนแรง ในครอบครัว
ร่างกาย998
จิตใจ96
เพศ697

ข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความรุนแรง และการกระทำทารุณกรรมกับเด็กที่เปิดเผยออกมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงและไม่ถูกช่วยเหลือยังมีอีกมาก

เหตุการณ์ครั้งนี้นอกจากสะท้อนภาพความจริงที่คำว่า“ครอบครัว”อาจไม่ได้หมายถึง“ความอบอุ่น”เสมอไปแล้ว ในส่วนของสังคมที่ควรเกิดขึ้นทันทีนับจากนี้คือ การตื่นตัวหากจับได้ถึงสัญญาณความรุนแรง ซึ่งตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546  ผู้ใดพบเห็นหรือประสบพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่ามีการกระทำทารุณกรรมต่อเด็กควรรีบส่งเสียงขอความช่วยเหลือกับเจ้าหน้าที่ เพราะการกระทำทารุณกรรมเด็กถือเป็นความผิด

“เด็ก”กลุ่มเปราะบางที่เสียงเบา แต่เกิดเหตุแล้วกลับเสียงดังมากสุด นั่นเพียงพอให้เห็นว่าเรื่องราวลักษณะนี้“สำคัญ”พอที่จะไม่เพิกเฉย และควรยื่นมือช่วยเหลือในเวลาที่ยังทำได้.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]