ตรงกับแนวคิด “การมีส่วนร่วมของผู้ป่วยเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย” เพื่อหวังให้เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัย และลดข้อผิดพลาดทางการแพทย์ที่มีโอกาสเกิดขึ้น
และเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมเนื่องในวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ครั้งที่ และ วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 7 เมื่อ 17 ก.ย. 2566 โดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เรื่องนี้ พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผอ. สรพ. ย้ำว่า เพื่อสร้างความปลอดภัย จำเป็นต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งบุคลากรสาธารณสุข ประชาชน ผู้ป่วยและญาติ ตามหลักการ 3P Safety ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายการทำงานร่วมกันกับภาคประชาชน มีแกนนำผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่มาช่วยกันพัฒนาระบบบริการอย่างมีส่วนร่วม ภายใต้ยุทธศาสตร์สำคัญคือ การสร้างความตระหนักรู้ การให้ความรู้สร้างความเข้าใจว่าทุกคนมีความสำคัญต่อระบบบริการสุขภาพอย่างไร แล้วร่วมมือกันทำงาน
“อย่าลืมถามหมอ และ อย่าลืมบอกหมอ ผู้ป่วยสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะถามแพทย์ได้ว่า เรากินยาอะไร จะเกิดผลอย่างไร มีโรคประจำตัวอะไร แพ้ยาอะไร หรือแม้กระทั่งถามว่า หมอล้างมือหรือยัง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพ การทวนชื่อยา ชื่อนามสกุล คนไข้ เรื่องพื้นฐานที่ช่วยลดข้อผิดพลาดได้”
ขณะที่ นายเอกวัฒน์ สุวันทโรจน์ ประธานชมรมผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย ก็ได้เล่าถึงประสบการณ์ว่า ตนป่วยเป็นโรคฮีโมฟีเลีย หรือ โรคเลือดไหลไม่หยุดซึ่งเป็นโรคหายากโรคหนึ่ง เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ที่ผ่านมาเคยเกิดคำถามว่าทำไมโรคนี้ถึงเกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่อยากยอมรับ
จนกระทั่งได้มารู้จัก “Patients Safety” ทำให้เปลี่ยนการตั้งคำถามใหม่ว่า “ผมเริ่มตั้งคำถามว่าผมได้อะไรจากการเป็นโรคฮีโมฟีเลียบ้าง” ดึงเอาความรู้จากการเป็นโรคนี้มาใช้ในการสื่อสารทั้งกับทีมแพทย์ที่รักษาตัวเองเพื่อประโยชน์ในการรักษาตัวเอง สื่อสารกับคนในครอบครัว คนใกล้ชิดให้เข้าใจ โดยเฉพาะคนที่กำลังเผชิญกับโรคเดียวกันนี้เพื่อข้ามผ่านวันเวลาไปด้วยกันและเกิดเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน จนสามารถสื่อสารไปยังภาครัฐเพื่อกำหนดนโยบาย สิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อผู้ป่วยได้
อย่างไรก็ตาม นอกจากการสร้างความร่วมมือของทุกภาคแล้ว การผลิต ‘นวัตกรรม’ ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความปลอดภัย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ระบบบริการสาธารณสุขมีทรัพยากรจำกัด ดังนั้นทุกๆ ครั้งของการจัดกิจกรรมเนื่องในวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ครั้งที่ และ วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย จึงจัดให้มีการประกวดนวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผลมากจากการทำงานในห้วงเวลาที่ผ่านๆ มา
ล่าสุดในครั้งที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปนี้ ก็มีบุคลากรจากหลายหน่วยงานส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพ โดยคุณหมอขอบอกสัปดาห์นี้หยิบมาเล่าสู่กันฟังสัก 1 เรื่อง คือ “ศูนย์ปันสุข ร่วมกับเครือข่าย ดูแลต่อเนื่องทุกกลุ่มวัยใกล้บ้าน ใกล้ใจ” โดย รพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งได้รางวัล The Best 0f Collaboration and Network
เรื่องนี้ “นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผอ.รพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ อธิบาย ถึงนวัตกรรม ศูนย์ปันสุข ร่วมกับเครือข่าย ดูแลต่อเนื่องทุกกลุ่มวัยใกล้บ้าน ใกล้ใจ ว่า เนื่องจากมีจำนวนผู้สูงอายุในพื้นที่มากขึ้น จึงรวมเครือข่ายที่ร่วมกัน แล้วแยกกลุ่มประชากรในความดูแลตามช่วงวัย ว่ามีการดูแลกันอย่างไร เช่น การดูแลระยะยาว การดูแลแบบประคับประคอง ใครเป็นผู้ดูแลอยู่ตรงจุดไหน ทำหน้าที่อะไร แล้วเชื่อมโยงข้อมูลให้เห็นภาพรวม เพื่อจัดสรรอัตรากำลังให้ตรงจุด
พร้อมนำเทคโนโลยีแอปพลิเคชัน Palliative Pansuk, IMC Pansuk, LTC Pansuk และ LAO Pansuk เข้ามาช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น ลดความซ้ำซ้อน ลดการมารพ. แก้ปัญหาเรื่องไม่รู้สิทธิการรักษา ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ลดค่าใช้จ่ายในการดูแล ขยายผลในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มอื่น เชื่อมโยงข้อมูลข้ามหน่วยงานได้อย่างไร้รอยต่อ เช่น ยืนยันการส่งต่อข้อมูลให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่จัดระดับของผู้ป่วยอย่างชัดเจนว่า ใครควรได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน ต่อเนื่อง อย่างไร เป็นต้น.
อภิวรรณ เสาเวียง