อาการกลัวดังกล่าวมักเกิดขึ้นสม่ำเสมออย่างต่อเนื่องโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยอาจทำให้สุนัขแสดงอาการตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุจนถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือทำลายสิ่งของในบ้านได้ ในขณะที่แมวมักพยายามหาที่หลบซ่อน หรือพยายามหลบหนีออกจากบริเวณที่ได้ยินเสียง ภาวะกลัวเสียงดัง มักไม่มีวิธีการแก้ไขโดยตรง แต่จำเป็นต้องอาศัยขั้นตอนหลาย ๆ อย่างร่วมกัน ได้แก่

การจัดบริเวณที่ปลอดภัยไว้ให้สัตว์เลี้ยง เช่น การจัดมุมมืดที่เงียบสงบภายในบ้าน มีห้องแยกที่ไกลจากเสียง การใช้ตู้ หรือเตียง เบาะนอน ที่มีส่วนที่เปิดปิดได้ และสัตว์สามารถเลือกที่จะเข้าออกเองได้ รวมถึงการใช้ของเล่น ขนมที่สัตว์ชอบ ผ้าปูรองนอน ผ้าที่มีกลิ่นเจ้าของ และการสร้างเสียงอื่นเข้ามาเพิ่มในห้องที่สัตว์รู้สึกปลอดภัย นอกจากนี้ เจ้าของสัตว์สามารถปลอบโยนสัตว์เลี้ยงได้โดยการลูบตัว นวดผิว หรือให้ขนม ใช้เสียงพูดที่นุ่มนวล โดยห้ามตะโกน ใช้เสียงดัง หรือลงโทษใด ๆ การฝึกหรือวิธีอื่น ๆ ที่อาจช่วยได้อีก ได้แก่ การฝึกให้ทำตามคำสั่ง (เช่น นั่ง คอย) และให้รางวัล การใช้เสื้อพันตัว การใช้ฟีโรโมนที่ทำให้ผ่อนคลาย หากวิธีในขั้นตอนแรกนี้ยังไม่ได้ผล อาจจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อต่อไป

การใช้ยาช่วยบรรเทาอาการกลัวเสียงดัง มีทั้งยาที่ใช้ชั่วคราวเพื่อลดอาการเป็นครั้ง ๆ และใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อลดอาการในระยะยาว ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อเลือกใช้ยาอย่างเหมาะสม

การทำให้สัตว์คุ้นเคยกับเสียงมากขึ้น หรือเปลี่ยนให้เป็นความรู้สึกด้านดี (Desensitization and counter-conditioning) เป็นวิธีการปรับพฤติกรรมเพื่อให้สัตว์ค่อย ๆ คุ้นชิน และมองเรื่องที่กลัวให้เป็นเรื่องที่ดีขึ้น วิธีการเบื้องต้นคือค่อยฝึกให้พบเจอกับเสียงที่กลัวอย่างเบา ๆ และช้า ๆ และมีการให้รางวัลเพื่อให้สัตว์จดจำว่าเป็นสิ่งที่ดี เช่น เปิดคลิปเสียงจุดพลุอย่างเบา ๆ ก่อน และค่อย ๆ เพิ่มเสียงทีละน้อยไปในแต่ละวัน ซึ่งอาจใช้เวลาฝึกนานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน

ปัญหากลัวเสียงในสัตว์เลี้ยง อาจเป็นปัญหาที่จัดการได้ยาก แต่หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงใช้ความพยายามและให้เวลาในการฝึก ก็ยังมีโอกาสในการช่วยบรรเทาหรือแก้ไขได้ ที่สำคัญคือควรจัดให้สัตว์เลี้ยงมีบริเวณปลอดภัยเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เจ้าของไม่อยู่บ้าน เพื่อให้สัตว์เลี้ยงอยู่อย่างปลอดภัยมากที่สุด.

สพญ.วรุณทิพย์ บุณยพุทธิกุล
สัตวแพทย์ประจำคลินิกระบบประสาท โรงพยาบาลสัตว์ กรุงเทพ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย