ซึ่งฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับรัฐบาลลงมา จะต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา ป้องกันการเกิดปัญหา ตลอดจนดำเนินการพัฒนาให้เท่าทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ กับกรณี “คุณภาพการศึกษาไทย” ก็มีมุมมองที่น่าสนใจจากนักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่เสนอ “แนวทางแก้ปัญหา” เกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาในไทย…ที่กรณีนี้ก็มีเสียงวิพากษ์อื้ออึงเซ็งแซ่มานาน…

มีการ “เสนอใช้ระบบคูปองการศึกษา”

ใช้ “แก้ปัญหาของระบบการศึกษาไทย”

โดยเฉพาะ “คุณภาพการศึกษาที่ทั่วถึง”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับข้อเสนอที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ มีการเสนอไว้ผ่านบทความ “ระบบคูปองการศึกษาเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด” ซึ่งเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ โดยผู้จัดทำคือ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง และ สัจจา ดวงชัยอยู่สุข นักวิชาการสถาบันเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งโดยสังเขปจากการเสนอไว้ มีว่า… สิ่งที่สำคัญและยากที่สุดในการพัฒนาการศึกษา…คือการส่งเสริมให้สถานศึกษาและครูมีแรงจูงใจพัฒนานักเรียน ซึ่ง…เนื่องจากระบบส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลของภาครัฐ ทำให้ครูส่วนใหญ่มีสถานะข้าราชการ ที่ใครจะทำ-ไม่ทำอะไรก็ได้ค่าตอบแทนใกล้เคียงกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมี…

“ครูขาดแรงจูงใจในการพัฒนานักเรียน”

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง

ผู้จัดทำข้อมูลข้อเสนอข้างต้นได้มีการหยิบยกคำกล่าวของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล  ศ.มิลตัน ฟรีดแมน มาอ้างอิง ซึ่งระบุไว้ว่า… ปัญหาเกี่ยวกับเงินเดือนครู ไม่ได้อยู่ที่ค่าเฉลี่ยของเงินเดือนต่ำเกินไป แต่อยู่ที่ครูที่มีอายุงานใกล้เคียงกันได้เงินเดือนใกล้เคียงกันเกินไป ทำให้ มีกรณีครูที่ตั้งใจพัฒนานักเรียนได้เงินเดือนต่ำเกินไป ส่วนครูที่ไม่ตั้งใจพัฒนานักเรียนได้เงินเดือนมากเกินไป …และกับการนำสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลกล่าวไว้มาอ้างอิงนั้น มีการเน้นไว้ว่า… ก็เพื่อที่จะยึดโยงไปถึง “คำถามสำคัญ” คือ… นโยบายแบบใดที่ช่วยให้ครูส่วนใหญ่มีแรงจูงใจพัฒนานักเรียน? เพื่อให้…

นักเรียนพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่

…นี่ “เป็นโจทย์สำคัญ” เรื่องนี้-กรณีนี้

นอกจากนี้ ก็ยังได้มีการเสนอมุมมองไว้อีกว่า… ที่เป็น “อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ” ในการแก้ปัญหานี้ คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองมีทางเลือกทางการศึกษา (school choice) ผ่าน “ระบบคูปองการศึกษา” ซึ่งเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นเรื่องของการ สร้างแรงจูงใจให้สถานศึกษาและครูมีความตั้งใจพัฒนานักเรียน ผ่านกลไกตลาด โดยสามารถนำระบบคูปองการศึกษามาใช้เป็นหนึ่งในแนวทางการ ให้การอุดหนุนผู้เรียนผ่านด้านอุปสงค์ (demand-side financing) เช่น กำหนดให้เด็กวัยเรียนแต่ละคนสามารถใช้งบประมาณต่อหัวตามที่กำหนด ใช้จ่ายค่าเรียนในสถานศึกษาได้ทั้งรัฐและเอกชน โดย…

“มอบอำนาจ” โดยตรง “ให้ผู้ปกครอง”

สัจจา ดวงชัยอยู่สุข

ทั้งนี้ คำอธิบายโดยสังเขป “ระบบคูปองการศึกษา” นั้น ในแหล่งข้อมูลเดิมระบุไว้ว่า… การ “เพิ่มทางเลือกทางการศึกษาด้วยคูปองการศึกษา” เป็น… “นโยบายที่มีการเสนอแนวทางไว้เพื่อเป็นทางออกในการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา” เป็นแนวคิดที่มีมากว่า 60 ปีแล้ว โดยเป็น แนวคิดของ ศ.มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ซึ่งหนึ่งในประเทศที่นำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติคือ อินเดีย โดยใช้ในบางรัฐ ซึ่งอินเดียเรียกโครงการนี้ว่า “AP School Choice Project” มีพื้นที่ทดลองครอบคลุม 4,251 ครัวเรือน มีโรงเรียนเอกชน 645 แห่งเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการที่ เด็กได้รับคูปองการศึกษาและได้เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน ช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ด้านภาษาอังกฤษและภาษาฮินดูดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ขณะที่…

ต้นทุนอุดหนุนต่อหัวน้อยกว่าระบบเดิม

อย่างไรก็ตาม ทางผู้จัดทำบทความข้อเสนอการ “พัฒนาคุณภาพการศึกษา” บทความนี้ก็ได้ระบุไว้ว่า… แม้ระบบ “คูปองการศึกษา” จะมีข้อดีและมีประโยชน์ แต่ การ “จะนำมาใช้ก็มีปัจจัยที่ต้องพิจารณา” นั่นคือ… “คุณภาพโรงเรียน” ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลลัพธ์เป็นบวกหรือลบจากการนำคูปองการศึกษามาใช้ และนอกจากนี้ ก็ยังได้มีการเสนอแนะไว้ด้วยว่า… แม้ระบบนี้มี “ประโยชน์เชิงสวัสดิการ” กับ “ครัวเรือนยากจน-มีข้อจำกัดทางการเงิน” ในฐานะเป็น “เครื่องมือ” เพื่อการ “เพิ่มประสิทธิภาพการศึกษา” กับ “ลดเหลื่อมล้ำในด้านการพัฒนาทุนมนุษย์” อย่างไรก็ดี ประเทศที่นำระบบนี้ไปใช้แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษานั้นยังมีจำนวนไม่มาก ซึ่งถ้าหากไทยสนใจจะนำระบบนี้มาใช้…

ควร “เริ่มจากการทดลองใช้บางพื้นที่”

เพื่อ “ให้มีข้อมูลมากพอจะขยายผล”

หรือ “อาจใช้เป็นทางเลือกอีกทาง”…

เพื่อ “เพิ่มคุณภาพการศึกษาไทย”.