เดินทางผ่านหัวมุมของถนนเยาวราชตัดกับถนนมังกรบ่อยครั้ง แต่ว่าการเดินผ่านครั้งล่าสุดนี้ สายตาต้องสะดุดกับอาคารพาณิชย์ 5 ชั้น ตั้งตระหง่านโดดเด่นด้วยดีไซน์แบบอลังการศิลป์ (Art Deco) ที่ล้อมรอบด้วยแสงสีนีออน แตกต่างออกจากร้านทองเยาวราชอื่นๆ บนถนนเส้นนี้อย่างชัดเจน ตัวตึกสีขาว หน้าต่างสีเขียว และป้ายผ้าสีแดงผืนใหญ่พิมพ์โลโก้หัวมังกร รอบๆ มีตัวอักษร “Chop Chop Cookshop” ทำให้ทราบว่ามีร้านกุ๊กช็อปมาเปิดใหม่ให้ลิ้มลอง จากเดิมจะเดินผ่านเลยต้องเปลี่ยนใจมาทำความรู้จักแทน

ที่บริเวณชั้น 1 ของอาคารแห่งนี้ครั้งหนึ่ง เคยเป็นทั้งบ้านและร้านทองที่เจ้าของเดิมใช้จัดแสดงทองรูปพรรณต่างๆ และสืบทอดกิจการต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จากนั้นเมื่อ เชฟเดวิด ทอมป์สัน เชฟชื่อดังชาวออสเตรเลีย และทีมงานเข้ามาสานต่ออาคารแห่งนี้ ทุกคนก็เห็นพ้องต้องกันและตั้งชื่อใหม่ให้อาคารนี้ว่า “โกลด์สมิธ”

“เยาวราชเป็นที่ที่มีอะไรเต็มไปหมด ทั้งตึกรามบ้านช่อง ผู้คน การค้า รถราคับคั่ง และของอร่อยเต็มสองฝั่งถนน นึกอยากกินอะไร ที่นี่มีขายทุกอย่างทั้งกลางวันกลางคืน กว่าจะมาถึงร้านเราลูกค้าต้องเดินผ่านร้านดัง ร้านอร่อย สตรีทฟู้ด ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหารจีนอีกเยอะแยะ ดังนั้นเพื่อให้ลูกค้าไม่เปลี่ยนใจไปเข้าร้านอื่น ผมจึงต้องทำคอนเซปต์ให้น่าสนใจ แตกต่าง ไม่ธรรมดา สุดท้ายผมก็เลือกทำในสิ่งที่ผมถนัด นั่นคือการเจาะเวลาหาอดีต” เชฟเดวิด ทอมป์สัน เล่าถึงที่มาที่ไป

ดังนั้น “Chop Chop Cookshop” เปรียบเสมือนไทม์แมชชีนที่เจาะเวลาหาอดีต พาทุกคนย้อนกลับไปอิ่มอร่อยกับร้านกุ๊กช็อป หนึ่งในชนิดของร้านอาหารที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งของกรุงเทพฯ ถือกำเนิดขึ้นจากชุมชนชาวจีนในสมัยก่อน โดยคนจีนไหหลำจะรับหน้าที่เป็นพ่อครัวแม่ครัว เสิร์ฟอาหารให้ผู้คนในบริเวณนั้น ช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดของร้านกุ๊กช็อปคือช่วงปี ค.ศ.1930-1970 ทุกครัวเรือนต้องเคยไปร้านกุ๊กช็อป และมีความทรงจำดีดีกลับมาทุกคน แทบจะเรียกได้ว่ากุ๊กช็อปคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินของคนกรุงเทพฯ ได้เลยทีเดียว

อาหารในร้านกุ๊กช็อปมีความหลากหลายมาก โดยมากจะเป็นอาหารตะวันตกที่ทำในสไตล์จีน บางทีก็ทำสไตล์ไทยด้วยตามความต้องการของลูกค้า รากเหง้าแข็งแกร่งดังกล่าวจึงถูกเชฟเดวิดวางเป็นคอนเซปต์หลักของ Chop Chop Cookshop หากแต่งเติมคาแรกเตอร์ให้มีความสดใสซาบซ่า เพื่อให้เหมาะกับการตั้งอยู่บนถนนเส้นนี้

ในส่วนของงานดีไซน์ ร้าน Chop Chop Cookshop ได้ อภิรักษ์ ลีฬหรัตนรักษ์จาก Bensley Design Studio มาจัดการให้ โดยหยิบเอาดีไซน์จากร้านขายทองบนถนนเยาวราชในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 มาเป็นแรงบันดาลใจ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมผนังภายในร้านถึงมีการตกแต่งด้วยทองรูปพรรณ ขณะที่พนักงานเองก็แลดูรุ่มรวยไม่แพ้กัน เพราะสวมใส่ทองรูปพรรณหลายเส้นมาเสิร์ฟอาหาร

เพลินตากันแล้ว ไม่อยากให้ลืมเพลินพุง เมนูซิกเนเจอร์ที่ทุกคนจะได้พบเมื่อก้าวเข้าสู่ร้าน เพียงใช้สมาร์ตโฟนสแกนคิวอาร์โค้ดนิดเดียวก็พบกับเมนูน่าตาน่ากินหลายชนิด ขณะที่หน้าเตา “เชฟนนท์-อานนท์ คำสุขสวัสดิ์” หัวหน้าเชฟมากฝีมือของ Chop Chop Cookshop กำลังง่วนอยู่กับการทำเมนูซิกเนเจอร์อย่าง “กุ้งผัดเนย” และ “เนื้อผัดน้ำมันหอย” จนกลิ่นหอมจากกระทะวอคลอยมาเตะจมูก

เชฟนนท์-อานนท์ คำสุขสวัสดิ์

เชฟอานนท์เผยรอยยิ้มเป็นการต้อนรับ ก่อนจะสาละวนตระเตรียมเครื่องปรุงที่มองด้วยตาเปล่าแล้วมีมากกว่า 10 ชนิด กล่าวพอสังเขป อาทิ น้ำมันกุ้ง บราวบัตเตอร์ รากผักชี หอมแดง ต้นหอม น้ำพริกเสฉวน จิ๊กโฉ่ว ผงผิวส้ม พริกไทยดำ น้ำเชื่อมคาราเมล เมนูแรก “กุ้งผัดเนย” วัตถุดิบหลักจะใช้ กุ้งขาวของไทย วิธีทำ นำกุ้งมาจี่บนกระทะที่มีความร้อนสูง เพื่อให้ได้กลิ่นหอม สีสวย และเนื้อกุ้งไม่แห้งเกินไป เสร็จแล้วหรี่ไฟลง ใส่น้ำมันเป็นการทอดให้สุกร้อยละ 60-70 พอได้ที่ ตักน้ำมันออก

กุ้งผัดเนย

หลังจากใส่เครื่องหอมและเครื่องเทศต่างๆ ลงผัด ใส่น้ำเชื่อมคาราเมล น้ำพริกเสฉวน ผงผิวส้ม พริกไทยดำ ผัดแล้วใส่จิ๊กโฉ่ว เมื่อผัดทุกอย่างเสร็จแล้ว กระบวนการสุดท้ายใส่เนยผัดอีกครั้ง เมนูกุ้งผัดเนยจานนี้ รสชาติจะเค็ม เปรี้ยว เผ็ด หอมกลิ่นอายของเครื่องเทศ

จานต่อมา “เนื้อผัดน้ำมันหอย” สไตล์ Chop Chop Cookshop ตอนแรกจะใช้เนื้อส่วนที่มีทั้งเอ็น เนื้อ และไขมัน ทำให้ตัวเนื้อมีความนุ่มตามธรรมชาติ หมักด้วยน้ำมันหอย ซีอิ๊วดำ น้ำปลา น้ำมันงา ทิ้งไว้ 20 นาที จากนั้นเอาพริกหยวกสีเขียวไปฉ่า ทำให้เกิดสีทั้งสองข้าง ตามด้วยเอาหอมใหญ่ใส่ตามเข้าไป คั่วให้มีคาลามาไลซ์ และใส่โป๊ยกั๊กเพื่อให้มีกลิ่นหอมกลิ่นไหม้เกิดขึ้น ตักขึ้นมาพักไว้ ต่อมาเอาเนื้อที่หมักไว้แล้วมารวนในกระทะที่กำลังร้อน เทคนิคการทำจานนี้ ต้องผัดด้วยความรวดเร็ว การปรุงต้องเร็ว และใช้ไฟแรง

อาหารสไตล์ “กุ๊กช็อป” จะกินกันอย่างตะวันตก นั่นคืออาหารจะถูกเสิร์ฟออกมาเป็นจานๆ จานใครจานมัน ไม่ได้เป็นสำรับสำหรับแชร์กันเหมือนอย่างไทย รับประทานกันเป็นคอร์สด้วยส้อมและมีด ที่สำคัญคือข้าวไม่ใช่คาร์โบไฮเดตหลัก แต่จะเปลี่ยนมาเป็นขนมปังและเนยแทน.

‘ช้องมาศ’