นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สภาเศรษฐกิจโลก ได้รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 66 โดยสำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนที่มีต่อความเสี่ยงโลกที่คาดว่า จะเกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาว ประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม มิติสิ่งแวดล้อม มิติภูมิรัฐศาสตร์ และมิติเทคโนโลยี โดยความเสี่ยงกำลังเกิดขึ้น คาดว่า จะเกิดภายในไม่เกิน 2 ปี คือ วิกฤติค่าครองชีพสูง เงินเฟ้อ ภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว การเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์ และการแตกความสามัคคีในสังคมและการแบ่งขั้วในสังคม

ส่วนความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในระยะยาวภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่เป็นวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเกิดจากการไม่สามารถจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ประกอบกับแรงหนุนจากแนวโน้มทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ จะนำไปสู่ความเสี่ยงจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ อาชญากรรมและความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์

สำหรับข้อสรุป 5 ความเสี่ยงหลัก ที่ส่งผลต่อความมั่นคงของโลก คือ 1. ระบบเศรษฐกิจผันผวน ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ส่งผลต่อการเกิดวิกฤติค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือน 2. ทรัพยากรขาดแคลน วิกฤติด้านอาหาร เชื้อเพลิง และต้นทุน ทำให้ความเปราะบางทางสังคมรุนแรงขึ้น 3. ภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กระตุ้นให้เกิดสงครามทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งต่าง ๆ 4. สังคมเปราะบาง ไม่เท่าเทียม ขาดความสามารถในการฟื้นตัว การลงทุนในมนุษย์ที่ลดลง มีผลต่อการลดลงของความสามารถในการฟื้นตัวของสังคมในอนาคต และ 5. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมในสังคมรุนแรงขึ้น การถูกจารกรรมข้อมูลจากระบบที่ไม่ปลอดภัย ส่งผลต่อสังคมที่ทำให้ผู้คนสูญเสียทรัพย์

 แนวคิดการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย จึงต้องพิจารณาจากความท้าทายในการเผชิญความเสี่ยงของโลก แนวคิดการเติบโตสีเขียว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวคิดการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึง เท่าเทียม นำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่โมเดลการพัฒนาใหม่ จึงมุ่งเน้นที่การพัฒนาที่เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสร้างโอกาสและความเท่าเทียมในสังคม.