โดยบางอย่างมาช้าบ้าง บางอย่างมาเร็วบ้าง ซึ่งมีทั้งประเด็นที่ก็เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ หรือรวมกันในหลาย ๆ ด้าน ที่วันนี้เราได้รวบรวมมา และได้นำมาสรุปเป็น “แนวโน้มวิถีใหม่ 10 ประการ” ที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ เพื่อชวนให้ทุกคนได้ลองสำรวจว่าสังคมรอบ ๆ ตัวของเรานั้น เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงตามนี้หรือไม่ หรือบางเรื่องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ตลอดจนทุก ๆ คนเตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร โดยแนวโน้มที่ว่านี้ มีข้อมูลดังนี้

1.โลกเดือด จนต้องรีบพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกใหม่ ซึ่งประเทศไทยนั้น กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ต่างก็เร่งรัดนโยบายที่เกี่ยวกับเรื่องการช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน การลดรอยเท้าคาร์บอน และเรื่องของ Net Zero ซึ่งแม้แต่หน่วยงานในกระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ยังเปลี่ยนชื่อจาก “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” มาเป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” หรือที่เราเรียกชื่อเล่น ๆ ว่า “กรมโลกร้อน” ส่วนในภาคธุรกิจเองก็มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ กันขนานใหญ่ เพื่อหาพลังงานที่สะอาดขึ้น หรือในระดับครัวเรือนเองก็มีผู้สนใจติดตั้งจัดทำหลังคาโซลาร์-พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อที่จะช่วยลดค่าไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันนี้มีการติดตั้งง่ายขึ้น ใช้งานสะดวกปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมถึงในขณะนี้บางธนาคารชั้นนำเองก็เริ่มให้เงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า เพื่อสนับสนุนโครงการพลังงานสะอาดเหล่านี้

2. อะไร อะไรก็ต้อง Recycle หมุนเวียนด้วย Circular Economy คำว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนกลายเป็นคำฮิตติดปากคนรุ่นใหม่ โดยเป็นแนวคิดในการใช้ของที่มีอยู่ให้คุ้มค่า ใช้ซํ้า หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก แทนที่จะโยนทิ้งให้เป็นภาระเป็นขยะของโลก ทำให้ได้เห็นนวัตกรรมใหม่ด้าน recycle ที่เติบโตเป็นธุรกิจ startup เช่น เสื้อผ้า recycle จากขวดพลาสติก, นํ้ามันไบโอดีเซลที่ recycle จากนํ้ามันเหลือทิ้งในครัว, เฟอร์นิเจอร์ recycle จากกล่องนม กากกาแฟ กระป๋องอะลูมิเนียม เป็นต้น นอกจากนั้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันก็ต้องคิดกัน ตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้าว่า ใช้วัสดุใด สามารถ refill ได้ซํ้าแค่ไหน รวมถึงเมื่อเลิกใช้แล้ว จะสามารถนำไปบริจาคหรือนำกลับไปทำอะไรได้อีก ซึ่งเวลานี้ทั้งผู้ออกแบบ ผู้ผลิต ผู้บริโภคตื่นตัวสนใจเรื่องนี้ในทิศทางเดียวกัน

3. ถึงเวลาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการเดินทาง เมืองสำคัญ ๆ ของโลกหลายแห่งในขณะนี้ได้หันมาปรับปรุงผังเมืองครั้งใหญ่ ด้วยการปรับเปลี่ยนสาธารณูปโภคพื้นฐานและระบบการเดินทางแบบยั่งยืน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต และลดการใช้ทรัพยากร ซึ่งในหลาย ๆ เรื่องผู้คนต้องยอมสละความสะดวกสบายส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมต่อระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทั้งรถไฟฟ้า ระบบราง ระบบเรือ ทางจักรยาน และถนนคนเดิน รวมถึงพยายามเพิ่มพื้นที่ระบบขนส่งสีเขียวและลดขนาดถนนแบบเดิม ซึ่งในบางเมืองได้มีการคืนถนน 8 เลนให้กลับไปเป็นทางจักรยานและพื้นที่สวนสาธารณะโดยมีรถไฟฟ้าใต้ดินอยู่ด้านล่าง ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นได้เพราะการปรับเปลี่ยนผังเมือง ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น เชื่อว่าหลายคนก็คงหวังให้เรื่องนี้เกิดขึ้นในบ้านเราเช่นเดียวกัน เช่น มีที่ชาร์จรถ EV มีการลดที่จอดรถและหันไปเพิ่มพื้นที่จอดจักรยาน รวมถึงมีการปรับปรุงระบบไฟฟ้าจากเดิมหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

4.วิถีการกินอาหารรักษ์โลกเพื่อลด Food Waste เป็นอีกเรื่องที่คนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยนอกจากจะสนใจอาหารสุขภาพแล้ว ยังสนใจเกี่ยวกับที่มาที่ไปด้วยว่าอาหารนั้นทำร้ายโลกแค่ไหน หรือสร้าง carbon footprint มากเกินไปหรือเปล่า รวมถึงทำให้มี water footprint มากเท่าใด ซึ่งตอนนี้มีข้อมูลมากมายที่ต้องแสดงบนบรรจุภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุนั้นก็ต้องรักษ์โลกด้วย หรือต้องนำกลับมา recycle ได้ ขณะที่อีกเรื่องหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมากเช่นกัน คือ ขยะอาหาร เช่น ถ้าทานไม่หมดจะนำไปทำอะไรได้บ้าง เราจึงพบนวัตกรรมเกี่ยวกับ food waste มากมาย อาทิ เครื่องเปลี่ยนเศษอาหารเป็นปุ๋ย, แอปพลิเคชัน food bank ที่เชื่อมโยงอาหารใกล้หมดอายุเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้หิวโหย เป็นต้น

5.ตลาดสินค้ามือสองและช่างซ่อมสารพัดสิ่งจะเป็นที่นิยม คนรุ่นใหม่ยอมจ่ายแพงขึ้นสำหรับสินค้าที่คงทน และพวกเขาก็ยังพยายามมีของน้อยชิ้นแบบ minimal โดยถ้าไม่พังจริง ๆ ก็จะซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่ไปเรื่อย ๆ จึงทำให้ธุรกิจสารพัดช่างกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เนื่องจากสินค้ามือสองไม่ใช่ของที่ถูกรังเกียจอีกต่อไป แถมบางชนิดขายได้ราคาแพงกว่าของใหม่เสียอีก ที่สำคัญจากเทรนด์ดังกล่าวทำให้มีนักออกแบบรุ่นใหม่ ๆ เลือกนำเสื้อผ้าที่ใช้แล้วมาแปลงเป็นสิ่งใหม่ ๆ เช่น กระเป๋า ถุงย่าม ที่เป็นเหมือนการสร้างสรรค์ second life ให้สรรพสิ่งรอบตัวเรา

6.สรรหาวัตถุดิบที่ยั่งยืนเพื่อปฏิรูปขบวนการต้นนํ้า เมื่อทรัพยากรเริ่มหมดลงอย่างรวดเร็ว การแสวงหาวัตถุดิบรักษ์โลกจึงเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยนวัตกรรมวัตถุดิบที่ผลิตจากการ recycle ทำให้สินค้ามีเอกลักษณ์ ดูมีค่ามีราคา จึงทำให้เรามักจะเจอนักออกแบบรุ่นใหม่ในสถานที่แปลก ๆ เช่น กองขยะ โกดังของเก่า หรือแม้แต่ลานทิ้งวัสดุและวัตถุดิบของโรงงาน

7.แบรนด์สินค้าและบริการรักษ์โลกกำลังเป็นที่นิยมจากคนรุ่นใหม่ โดยผู้บริโภครุ่นใหม่ยุคนี้หันมาสนใจ Brand ที่แสดงออกหรือสื่อสารชัดเจนเกี่ยวกับความยั่งยืน อีกทั้งการที่มีการจัดงานหรือการประชุมของสินค้าและบริการรักษ์โลก Sustainable Branding เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรณีนี้ก็ทำให้เทรนด์ดังกล่าวจึงขยายวงออกไปยังผู้คนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

8.นวัตกรรมเปลี่ยนโลกผุดขึ้นใหม่ทุกวัน ทุกวันนี้เราจะเห็นเวทีแข่งขันเกี่ยวกับนวัตกรรมเปลี่ยนโลกบ่อยครั้งมากขึ้น จนอาจเรียกได้ว่าเรื่องนี้ได้กลายเป็นหลักสูตรใหม่ ๆ ในโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้เชื่อมโยงกับแหล่งทุนและห่วงโซ่ธุรกิจได้มากขึ้น รวมถึงทำให้วงการสตาร์ทอัพสินค้าและบริการความยั่งยืนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการผลักดันของคนรุ่นใหม่

9.กระแสการเรียกร้อง Work from Home และประชุมออนไลน์ แม้ covid-19 จะผ่านไปแล้ว แต่คนรุ่นใหม่ก็พบว่าการเดินทางไปทำงานทุกวัน ไม่จำเป็นอีกต่อไป และทดแทนได้ด้วยการประชุมออนไลน์ ทำให้การ work from home ที่มีความรับผิดชอบ มีมาตรฐาน เป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ในเวลานี้ อีกทั้งรูปแบบการทำงานนี้ยังช่วยลดคาร์บอนและช่วยโลกได้มากด้วย

10. ความสนใจข้อมูลข่าวสารเรื่องความยั่งยืนกำลังมาแรง โดยวันนี้มีผู้คนที่อยากอ่านเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้น มีการพูดถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น รวมถึงช่วยกันส่งต่อข้อมูลข่าวสารความรู้เรื่องนี้ เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนช่วยกันรักษาโลกใบนี้ไว้ให้ยั่งยืน ซึ่งตั้งแต่ UN ได้มีการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG ในปี ค.ศ. 2016 ต่อมาก็ทำให้สื่อสารมวลชนทั่วโลกหันมาสนใจและเริ่มทำข่าวเกี่ยวกับความยั่งยืน โดยช่วยกันสื่อสารเรื่องราวการขับเคลื่อนเป้าหมาย ทั้ง 17 ข้อ ซึ่งถูกเรียกว่า SDGMedia Impact โดยในเมืองไทยนั้น เดลินิวส์ถือว่า In Trend มาก ๆ โดยได้ริเริ่มการเปิดหน้าข่าวความยั่งยืนเต็มรูปแบบในหน้า “Sustainable Sunday” ในฉบับวันอาทิตย์ ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างดี จนมีผู้อ่านเรียกร้องเข้ามาว่าอยากอ่านเรื่องนี้ทุก ๆ วัน จนทางผู้บริหารเดลินิวส์ได้ตัดสินใจขยายพื้นที่ข่าวความยั่งยืนนี้ในหน้า 4 ของวันอังคารถึงวันศุกร์ในชื่อใหม่ว่า “Sustainable Daily” และนี่เป็น “แนวโน้มวิถีใหม่ 10 ประการ” ที่กำลังมาแรง ซึ่งผู้อ่านทุกคนเมื่อได้อ่านแล้ว ก็อยากให้ลองเช็กว่าตัวท่านนั้นตกกระแสเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปหรือไม่ รวมถึง
ทุก ๆ ท่านจะต้องปรับตัวใหม่อย่างไร? เพื่อรับมือกับภาวะโลกเดือด.

CSR Man