ทั้งนี้ กับดราม่าเพลงที่ว่า…ก็มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคำวิจารณ์ ซึ่งถึงวันนี้ดราม่าเคสนี้สรุปจบหรือยัง?? มีกระแสเพิ่มเติมอะไรอีกหรือไม่?? ก็ว่ากันไป อย่างไรก็ตาม…

หากจะดูกันลึก ๆ ถึง “คำในเพลง”…

โดย “โฟกัสกันที่เพลงหมอลำ” ล่ะก็…

เรื่องนี้ “ก็มีงานวิชาการน่าพิจารณา”…

ทั้งนี้ เมื่อโฟกัสเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเน้นที่ “คำทางเพศในเพลงกลอนหมอลำ” กรณีดังกล่าวนี้ก็มีแง่มุมน่าสนใจ-น่าพิจารณา โดย “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลวิชาการ จากบทความวิชาการเรื่อง “เพศวิถี : ค่านิยมทางเพศในวรรณกรรมคำสอยของหมอลำอีสาน (Sexuality : Sexual Values on construction of Isan Mor Lam)”โดยผู้เขียนบทความที่น่าสนใจนี้คือ เสียงชัย สาสีเสาร์ และ จารุวรรณ ธรรมวัตร ซึ่งบทความดังกล่าวนี้ได้มีการเผยแพร่ไว้ใน วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีที่ 40 ฉบับที่ 2 มี.ค.-เม.ย. 2564

ในบทความวิชาการนี้เกริ่นนำไว้ว่า…ชุดข้อมูลในบทความมาจากวิทยานิพนธ์หัวข้อ “เพศวิถีในวรรณกรรมคำสอยของหมอลำกลอน และหมอลำซิ่งร่วมสมัย” ในหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับ “เพศวิถี-ค่านิยมทางเพศ” ที่นำเสนอผ่าน “วรรณกรรมคำสอยของหมอลำอีสาน” โดย หมอลำถือเป็นวัฒนธรรมการแสดงที่เน้นความสนุกสนานของชาวอีสาน เป็น 1 ใน 5 วิญญาณของความเป็นอีสาน ที่ประกอบด้วย… ลาบ ข้าวเหนียว ส้มตำ หมอลำ และหมอแคน

นี่เป็นเกริ่นนำก่อนเข้า “ประเด็นสำคัญ”

กับ “ศิลปะการแสดงหมอลำ” นั้น ในบทความดังกล่าวระบุไว้ว่า… หมอลำ หรือการขับลำนำ เป็นการแสดงพื้นบ้านที่นิยมกันมานานมากแล้ว และเมื่อมี“หมอลำ” แล้วก็จะต้องมี“หมอสอย” ด้วย โดย “หมอสอย” จะเป็น “คนคิดคำสอย” ซึ่ง… “คำสอย” นี้จะ “แสดงถึงภูมิปัญญาการใช้ภาษา” ที่จะปรากฏอยู่ในการแสดงหมอลำ โดยคำสอย มักจะเป็นข้อความมุกตลก ที่จะใช้กันในเวลาแสดง โดยเฉพาะในจังหวะเดินกลอนและร่ายลำช่วงที่เร้าใจที่สุด เพื่อให้สอดรับกับต้นเรื่องและชื่อเรื่อง เพื่อให้ผู้ฟังมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ซึ่ง “คำสอยนิยมใช้กับหมอลำเท่านั้น” โดยไม่ปรากฏการใช้กับการบันเทิงประเภทอื่น 

นอกจากนี้ เมื่อกล่าวถึง “การสอย” ใน “หมอลำอีสาน” นอกจากจะเป็นการแสดงสำนวนโวหารที่ช่วยทำให้เกิดความตลกขบขันทางอารมณ์แล้ว  การสอยหรือ คำสอย”…ยัง “สื่อให้เห็นถึงเรื่องราวทางเพศ” ด้วย ซึ่งในบทความได้อ้างอิงผลการศึกษาของ นิคม วงเวียน  ที่ศึกษาเกี่ยวกับ “เพศวิถีในกลอนลำ” โดยมีเนื้อหาระบุไว้ว่า… กลอนลำมักจะมีการใช้ภาษาเกี่ยวกับเรื่องเพศ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งการใช้ภาษาลักษณะดังกล่าว ถือเป็นกลวิธีในการควบคุมสังคม ในขณะที่ทำให้สังคมมองเรื่องเพศเป็นเรื่องขบขันดังนั้นคำสอยจึงมักมีความหมายเน้นเรื่องเพศโดยเฉพาะ และที่โดดเด่นนั่นก็คือ…

จะเน้นใช้คำหยาบพื้นๆ ตรงไปตรงมา

โดยที่ผู้ฟังไม่ต้องแปลความ-ถอดความ

และจากการที่ “คำสอยมีลักษณะเนื้อหาเรื่องเพศ” ในบทความก็ขยายความไว้ว่า… การศึกษาวรรณกรรมคำสอยในหมอลำอีสาน สามารถแยกถึงค่านิยมทางเพศได้ 4 ลักษณะ คือ 1.การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เพื่อสื่อถึงค่านิยมทางเพศที่เสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ที่เกิดจากอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกที่ส่งผลต่อพฤติกรรมเปิดเผยเรื่องเพศของวัยรุ่น 2.การมีเพศสัมพันธ์กับกลุ่มเครือญาติ เพื่อสะท้อนถึงการอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมชาวอีสานที่มีความสัมพันธ์กันหลายลักษณะ 3.การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ทำให้เกิดค่านิยมทางเพศที่ผิด 4.การมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกล่อลวง ฉายภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดจากความก้าวหน้าและรวดเร็วของเทคโนโลยี เพื่อสื่อถึงการเกิดค่านิยมทางเพศที่ไม่ถูกต้องอันนำไปสู่ปัญหา โดยเฉพาะการถูกล่อลวงไปในทางไม่ดีต่าง ๆ

“คำสอย” จะมีการ“สื่อเตือน” เรื่องเหล่านี้

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายบทความ “เพศวิถี : ค่านิยมทางเพศในวรรณกรรมคำสอยของหมอลำอีสาน” ทางผู้เขียนได้ระบุถึงผลการศึกษาที่พบไว้ด้วยว่า… “คำสอยของหมอลำอีสาน” เป็นเสมือน “เครื่องมือที่ใช้สะท้อนถึงค่านิยมทางเพศที่ไม่เหมาะสม” และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆดังนั้น ถึงแม้ “คำสอย” จะถูกสื่อสารหรือแสดงออกมาในรูปแบบ “มุกตลก” แต่ก็ “มีวัตถุประสงค์ต้องการจะฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นด้วย…โดยเฉพาะการทำให้เกิดค่านิยมทางเพศผิด ๆ” ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-วัฒนธรรม …นี่เป็น “แก่นใหญ่ใจความที่น่าสนใจ” ของ “คำสอยในหมอลำ” ที่มักจะถูกใช้ในรูปแบบ“มุกตลกเกี่ยวกับเพศ” ที่ใน“มุมวิชาการ” ได้สะท้อนและได้อธิบายไว้…

ว่าด้วย “นัยแฝงในมุกตลกเกี่ยวกับเพศ”

“น่าคิด” และอาจ “คนละเรื่องเดียวกัน”

กับ “ดราม่าคำในเพลง…ที่อื้ออึง??”.