ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อสังคม เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจการเงิน ที่ได้ประกาศแผนการก้าวสู่การเป็น Net Zero ที่เด่นชัดเป็นรูปธรรมที่สุดในไทย ซึ่งในวันนี้ได้มีโอกาสเปิดบทสัมภาษณ์พิเศษ วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่ได้ฉายภาพการเป็น Net Zero ให้เห็นกัน

หัวเรือใหญ่แบงก์ออมสิน เผยว่า ตลอด 3 ปีที่เข้ามารับตำแหน่ง ธนาคารให้ความสำคัญต่อการทำ ESG ที่ย่อมาจาก Environment คือ สิ่งแวดล้อม Social สังคม และ Governance ธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นแนวคิดของการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนมาตลอด แต่ภาพที่ผ่านมา จะเห็นออมสินเน้นหนักในเรื่องของการช่วยสังคมเป็นพิเศษ เช่น การนำกำไรจากสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ไปปล่อยกู้ช่วยผู้มีรายได้ หรือการเข้าแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอีกหลาย ๆ โครงการ แต่มาในปีนี้ธนาคาร ตั้งเป้าหมายเข้ามามีบทบาทส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้ชัดขึ้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการธนาคารออมสิน ได้อนุมัติแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions Roadmap ซึ่งกำหนดให้ออมสินต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้นํ้ามัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการทำธุรกิจธนาคาร การให้สินเชื่อ ที่ปัจจุบันธนาคารมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ต้องจัดการ 1.72 ล้านตันคาร์บอน tCO2e ให้เหลือเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050

ในโรดแม็ปดังกล่าว กำหนดเป้าหมายและแผนงานที่ชัดเจนเป็น 4 ระยะ ระยะแรก คือ สิ่งที่ทำทันทีในปีนี้ คือ การหยุดปล่อยกู้ ธุรกิจต้องห้าม (Exclusion List) แก่ธุรกิจถ่านหินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมกับจัดทำ ESG Score เพื่อใช้จัดกลุ่มธุรกิจประเมินการปล่อยกู้ โดยหลักคือ หากได้คะแนนดีก็จะได้สิทธิพิเศษ แต่หากคะแนนแย่ ก็อาจไม่ได้รับสินเชื่อ เป็นต้น นอกจากนี้ ธนาคารจะส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การปลูกอนุรักษ์ป่าควบคู่กันไป

แผนระยะต่อมาปี 2030 ธนาคารตั้งเป้าไม่ปล่อยสินเชื่อและลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจถ่านหิน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้ง 100% นอกจากนี้ ใน 35% ของสินเชื่อโครงการโรงไฟฟ้าจะต้องเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด และ 40% สินเชื่อบริษัทจดทะเบียนฯ ต้องมีเป้าหมายการเป็น Net Zero ที่สำคัญต้องปลูกป่าให้ได้ 50,000 ไร่ รวมถึงจะประกาศนโยบายเพิ่มเติม ไม่ลงทุนเพิ่มในบริษัทจดทะเบียนฯ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติ

จากนั้นพอถึงปี 2040 ในแผนกำหนดว่า ออมสินจะต้องไม่ลงทุนหุ้นและหุ้นกู้ในบริษัทจดทะเบียนฯ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติอีก ขณะที่ 60% สินเชื่อโครงการโรงไฟฟ้าต้องเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด รวมถึงการให้กู้ 100% ของบริษัทจดทะเบียนฯ ต้องกำหนดเป้าหมาย Net Zero ที่ชัดเจน อีกทั้งจะประกาศเป้าหมายเพิ่มเติม คือ ไม่ให้สินเชื่อเพิ่มในบริษัทจดทะเบียนฯ ที่ทำธุรกิจ Oil & Gas ไม่ให้สินเชื่อเพิ่มในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงไม่ให้สินเชื่อเพิ่มในโครงการอสังหาฯ ที่ไม่ได้รับรอง Green Building เพื่อการก้าวไปสู่การเป็น Net Zero โดยสมบูรณ์ในปี 2050 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าแผนภาพใหญ่ของทั้งประเทศที่กำหนดไว้ปี 2065

แต่ผมอยากขยายความเพิ่มเติมถึง ESG Score เพราะออมสินถือเป็นธนาคารแรก ที่นำแผน ESG ของลูกค้ามาใช้ประกอบการประเมินขอสินเชื่อ โดยจะเริ่มจากลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อ 500 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งได้จัดกลุ่มธุรกิจที่จะสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. Exclusion List หรือ ธุรกิจที่ไม่สนับสนุน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง เช่น ธุรกิจถ่านหินและที่เกี่ยวเนื่องจะไม่ปล่อย

2. Negative List หรือ ธุรกิจที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ ที่ได้คะแนน ESG Score ไม่เกิน 2 คะแนน ธนาคารหลีกเลี่ยงการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจเหล่านี้ แต่จะช่วยให้คำปรึกษาไปปรับปรุงพัฒนา

3. Positive List หรือ ธุรกิจที่ให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ ซึ่งได้ตั้งแต่ 8 คะแนนขึ้น จะได้สิทธิประโยชน์ส่วนลดดอกเบี้ย การอนุมัติเพิ่มวงเงินสินเชื่อพิเศษ เช่น ธุรกิจที่ส่งเสริมบีซีจี ยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อาทิ เปลี่ยนใช้พลังงานสะอาด โดยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ภายในสำนักงานใหญ่ การเปลี่ยนใช้รถยนต์ไฟฟ้าในธุรกิจธนาคารทั้ง 100% ภายใน 5 ปี รวมถึงการปลูกป่าทดแทนป่าเสื่อมโทรมและการอนุรักษ์ป่า เพื่อเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนที่สำคัญ และช่วยพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ

“จากโรดแม็ปที่วางไว้เหล่านี้ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางให้ออมสิน ก้าวเดินไปสู่การเป็นธนาคารที่ปล่อยคาร์บอนฯ เป็นศูนย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และตอกยํ้าบทบาทการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ที่ช่วยสร้างสมดุลในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”.