นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม (ศบค.อก.) เปิดเผยว่า  ได้ประชุมคณะกรรมการศบค.อก. ครั้งแรก กำหนดให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 76 แห่ง และสำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 เขต  ให้ความรู้ความเข้าใจมาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ (บับเบิ้ล แอนด์ซิล)  ให้กับสถานประกอบการ และโรงงานทั่วประเทศ 1.4 แสนแห่ง เพื่อให้ธุรกิจอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อได้ แม้จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจะคัดเลือกโรงงานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ที่มีผลต่อเศรษฐกิจ ให้คำปรึกษาแนะนำแบบโคชชิ่ง ประมาณ 30,000 โรงงาน เนื่องจากข้อมูลล่าสุดกรมควบคุมโรควันที่ 13 ก.ย. พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน สะสมรวม 67,281 คน รักษาหายแล้ว 26,139 คน และรองรับการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพราะโรงงานเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการติดเชื้อสูง

ทั้งนี้จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ เพชรบุรี, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, สระบุรี, และสมุทรสาคร โดย อุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องนุ่งห่ม, โลหะ, และพลาสติก  โดยวิทยากรจะเข้าไปแนะนำทำบับเบิ้ลแอนซีล , การจัดการสภาพแวดล้อม , มีการจัดการกิจกรรม จุดที่มีความเสี่ยงสูง , จัดการสภาพการทำงานและการเดินทางที่ปลอดภัย คัดกรองด้วยเอทีเค และจัดกิจกรรมและสถานที่ไม่ให้มีความแออัด

“ ความต้องการขอรับความช่วยเหลือจากรัฐที่ได้รับในเบื้องต้น เช่น คำแนะนำ แนวทาง Bubble & Seal  , การสนับสนุนวัคซีนและชุดตรวจ ATK  และด้านค่าใช้จ่ายในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19  เปิดธุรกิจอุตสาหกรรมให้สามารถเดินหน้าต่อได้ แม้จะแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม ในส่วนของสถานประกอบการและโรงงานฯ”

สำหรับเป้าหมายที่ศบค.อก. จะกำกับควบคุม 1.4 แสนแห่ง คือ 1.โรงงานอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 มีประมาณ 70,000 โรงงาน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมดูแลอยู่ในขณะนี้  2.สถานประกอบกิจการผลิตที่ไม่ใช่โรงงาน ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า ที่เดิมยังไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ กลุ่มนี้มีประมาณ 70,000 โรงงาน ที่ประชุมได้มอบหมาย กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครดูแล และ 3. แคมป์คนงาน ข้อมูลในเบื้องต้นเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีประมาณ 1,317 แคมป์ โดยที่ประชุมได้มอบหมายกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานดูแล ทั้ง 3 กลุ่มสามารถจะนำมาตรการ BBS ไปประยุกต์ใช้ได้ และทุกหน่วยจะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด และจะมีการจัดทำและเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อระหว่างกัน เพื่อประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์ฯ อันจะช่วยป้องกันและลดจำนวนผู้ติดเชื้อ