สวัสดีจ้า “Campus Life” สัปดาห์นี้ มีความยอดเยี่ยมของทีม iRAP Robot จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ที่ไปโชว์ฝีมือการพัฒนาหุ่นยนต์ให้ชาวต่างชาติได้ทึ่ง อึ้ง กับผลงานสุดยอดของนักศึกษาไทย ด้วยการคว้าแชมป์ในการแข่งขัน World RoboCup Rescue ที่เมืองบอร์โด ประเทศฝรั่งเศส เป็นสมัยที่ 9 มาฝากกันจ้า

ทีม iRAP Robot ประกอบด้วย “ฐิติยศ ประกายธรรม”, “ภูมิทรรศน์ สังขพันธ์”, “ศักดิธัช วินิจสรณ์” วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม “จิรกานต์ สุขเจริญ” บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน “ชัยพฤกษ์ เลาหะพานิช”, “อาทิตย์ นาราเศรษฐกุล”, “ปียภูมิ ธนวุฒิอนันต์”, “กลย์ภัทร์ บุญเหลือ”, “ธรณินทร์ อุ่นอารีย์”, “ธนกร กุลศรี”, “นภดล จำรัสศรี”, “เจษฎากร ชัยนราพิพัฒน์”, “ภูบดี บุญจริง” คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีคณาจารย์ที่ปรึกษาทีมดังนี้ ผศ.สมชาย เวชกรรม ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ รศ.ดร.ธีรวัช บุณยโสภณ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ดร.จิรพันธุ์ อินเทียม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบูรณาการเทคโนโลยี ดร.อรัญ แบล็ทเลอร์, ผศ.นพดล พัดชื่น อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์

“จิรกานต์  สุขเจริญ” เป็นตัวแทนของทีม เล่าว่า ทางทีมได้คว้าแชมป์ในการแข่งขันและรางวัลสมรรถนะยอดเยี่ยมอีกสองรางวัลซึ่งนับเป็นแชมป์ในสมัยที่ 9 ของทาง มจพ. และประเทศไทย ซึ่งในการแข่งขันประกอบไปด้วยทีมจำนวน 17 ทีมจาก 11 ประเทศทั่วโลกรวมไปถึงเยอรมนี ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา สำหรับการแข่งขันในปีนี้ถือว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่แต่ละทีมต้องแข่งขันกันอย่างสูสี แต่ทีมของเราก็สามารถโชว์ฝีมือทำคะแนนนำเป็นอันดับ 1 ในทุกๆ รอบการแข่งขัน และนอกจากผลรางวัลแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยแล้ว ทางทีมยังได้รางวัลสมรรถนะยอดเยี่ยมอีกสองรางวัลได้แก่ Best In Class Mobility หรือสมรรถนะการขับเคลื่อนยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นรางวัลที่จะให้แก่หุ่นยนต์ที่มีสมรรถนะการขับเคลื่อนผ่านสิ่งกีดขวางต่างๆ ได้อย่างคล่องตัวและว่องไวที่สุด และอีกรางวัลได้แก่ Best In Class Mapping หรือ รางวัลสมรรถนะการทำแผนที่ยอดเยี่ยม ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ทางทีมและประเทศไทยสามารถสร้างซอฟต์แวร์ทำแผนที่ 3 มิติ ที่สมรรถนะสูง จนสามารถช่วงชิงรางวัลนี้จากเจ้าของรางวัลเดิม คือ เยอรมนี

“นับเป็นการนำเสนอผลงานทางด้านซอฟต์แวร์ว่าสามารถแข่งขันกับประเทศที่เป็นเจ้าเทคโนโลยีอันดับต้นๆ ของโลกอย่างเช่นประเทศเยอรมนีได้ ปีนี้ทางทีมจึงมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในทุกๆ รางวัลที่สามารถนำกลับมาเป็นของขวัญให้แก่มหาวิทยาลัยในโอกาสครบรอบ 65 ปี และให้กับประเทศไทยของเรา” “จิรกานต์” กล่าวอย่างภูมิใจ

ผศ.นพดล พัดชื่น อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาทีม iRAP Robot เสริมว่า จากผลงานทางด้านโครงสร้างหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์ที่ได้พัฒนาขึ้นครั้งนี้ ได้มีการนำไปต่อยอดสร้างหุ่นยนต์สำหรับงานด้านการสำรวจและซ่อมบำรุงให้กับบริษัทในภาคอุตสาหกรรมได้แก่บริษัท global chemical หรือ ปตท. ด้วย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามหรือติดต่อได้ทาง Facebook: iRAP robot

นับเป็นอีกครั้งที่เยาวชนไทย ได้แสดงความสามารถทางด้านการพัฒนาหุ่นยนต์ให้เวทีการแข่งขันระดับโลก ได้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทยว่ามีดีแค่ไหน!!!