ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้รับรองว่าปลอดภัย และอนุมัติให้ทยอยปล่อยนํ้าที่บำบัดลงทะเลได้ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยนํ้าที่ถูกทยอยปล่อยลงทะเลมีปริมาณมากถึง 1 ล้านเมตริกตัน หรือมีขนาดเท่ากับสระว่ายนํ้าโอลิมปิก จำนวน 500 สระเลยทีเดียว ซึ่งคาดว่าจะค่อย ๆ ปล่อยนํ้าที่บำบัดแล้ว ทีละน้อย ๆ เป็นเวลา 30 ปี อย่างไรก็ตามแต่ในขณะนี้ ผู้คนทั่วโลกก็กำลังเป็นกังวลและเฝ้าจับตามองเรื่องนี้กันอย่างใกล้ชิด โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Fumio Kishida นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พร้อมกับ 4 รัฐมนตรี ก็ได้โชว์การรับประทานซาซิมิที่มาจากสัตว์นํ้าในทะเลจากน่านนํ้าดังกล่าว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในความปลอดภัย ด้วยการให้ผู้นำประเทศช่วยเรียกคืนความเชื่อมั่น ไม่ต่างกับการโปรโมตกินอาหารทะเลในช่วงที่นํ้ามันรั่วลงทะเลใน จ.ระยอง หรือโปรโมตการกินไก่ในช่วงที่ไข้หวัดนกระบาดนั่นเอง

เรื่องราวของการปล่อยนํ้าที่บำบัดแล้วลงทะเลนั้น แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะรับรองความปลอดภัยว่าเป็นไปตามมาตรฐาน IAEA (The International Atomic Energy Agency) แต่ยังคงสร้างความขัดแย้งกับประชาคมประมงในย่านนั้น เพราะพวกเขาอาจจะสูญเสียลูกค้าที่ส่งออกทั่วโลก ซึ่งก็กำลังเกิดขึ้นแล้ว เมื่อจีนได้ยกเลิกการนำเข้าอาหารทะเลจากบริเวณนี้ และอาจบานปลายเป็นปัญหาการเมือง เมื่อทูตอเมริกันได้ลงพื้นที่ทานอาหารทะเลโชว์ความปลอดภัย และมองว่าตลาดจีนกับฮ่องกงตอบสนองต่อเรื่องนี้มากเกินไป ขณะที่เกาหลีและประเทศอื่น ๆ ก็เข้าข้างอเมริกัน โดยออกมายืนยันว่าปลอดภัย แม้ผู้บริโภคในประเทศตนเองจะคิดไปคนละทางก็ตาม

ซึ่งเรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์ให้ข้อมูลว่า ไม่เพียงโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะที่ปล่อยนํ้าที่บำบัดแล้ว ที่มีสารกัมมันตรังสีลงแหล่งนํ้า แต่ยังมีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์อีกมากกว่า 450 แห่งทั่วโลก ปล่อยนํ้าที่บำบัดแล้วแบบนี้ลงแหล่งนํ้าสาธารณะมานานกว่า 60 ปีแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นักวิจัยก็ยังคงต้องเฝ้าระวังและตรวจสอบสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งหลาย ๆ ท่านอาจคิดว่า สารพิษที่ปนเปื้อนมากับนํ้าทิ้งของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเรื่องไกลตัว แต่ท่านเคยรู้ไหมว่านํ้าทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม และสถานประกอบการรอบ ๆ ชุมชนของท่านนั้นได้มาตรฐานหรือไม่ อาทิ นํ้าที่ละลายปุ๋ยเคมีจากการเกษตรลงคูคลองและแหล่งนํ้าใต้ดินรอบบ้านของท่าน จะมีพิษคงค้างมากน้อยแค่ไหน หรือนํ้าเสียจากบ้านของตัวท่าน ที่ปล่อยลงสู่ทางระบายนํ้าสาธารณะจะทำร้ายระบบนิเวศอย่างไร

ซึ่งเรื่องคุณภาพนํ้าน่าจะเป็นปัจจัยความยั่งยืนที่จะถูกพูดถึงมากในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งช่วงเอลนีโญ นํ้าเสียในปริมาณเท่าเดิมที่ทุกคนปล่อยลงคูคลองสาธารณะ เมื่อนํ้าแห้งเหือดลง และอยู่นิ่งไม่ค่อยไหล ปริมาณนํ้าเน่าเสียนั้น ก็จะเข้มข้นขึ้นจนเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งหวังว่าทุกท่านคงเตรียมรับมือกับสิ่งเหล่านี้นะครับ แต่สำหรับผมนั้น ในครั้งต่อไปที่ไปทานอาหารญี่ปุ่น ก็คงต้องถามก่อนว่าปลาดิบที่ร้านมาจากไหน? หรือต้องหาเครื่องวัดกัมมันตรังสีติดตัวไปด้วย ไม่ก็หันไปทานปลาทูไทยดีกว่า แต่ก็อาจจะไปเจอไมโครพลาสติกในเนื้อปลาทูอีก ซึ่งถ้าหากพวกเราทุกคนไม่ช่วยกันสร้างโลกให้ยั่งยืน อีกหน่อยหันไปทางไหน ก็จะเหมือนหนีเสือปะจระเข้นั่นเอง.