มิหนำซ้ำ รายงานของสถาบันนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (เอปิค) ในสหรัฐ ยังระบุว่า ระดับของเงินทุนที่จัดสรรไว้เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าวนั้น เป็นเพียงเศษเสี้ยวของจำนวนเงินที่จัดสรรเพื่อต่อสู้กับโรคติดเชื้อ

รายงานดัชนีชีวิตอันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศ (เอคิวแอลไอ) ของเอปิค แสดงให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ “พีเอ็ม 2.5” ซึ่งมา   จากการปล่อยมลพิษของยานพาหนะและอุตสาหกรรม รวมถึงไฟป่า และอื่น ๆ ยังคงเป็น “ภัยคุกคามภายนอกที่ร้ายแรงที่สุด” ต่อสาธารณสุข เนื่องจากมันมีความเกี่ยวข้องกับโรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง

หากโลกสามารถลดมลพิษเหล่านี้ได้อย่างถาวร เพื่อบรรลุขีดจำกัดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) คนทั่วไปจะมีอายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอีก 2.3 ปี เมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่ ซึ่งลดอายุขัยเฉลี่ยของประชากรทั่วโลก 2.2 ปี ขณะที่ภาวะทุพโภชนาการในเด็กและมารดา มีส่วนทำให้อายุคาดเฉลี่ยลดลง 1.6 ปี

แม้เอเชียกับแอฟริกา จะแบกรับภาระมลพิษทางอากาศมากที่สุด แต่ทั้งสองทวีปก็มีโครงสร้างพื้นฐานอ่อนแอที่สุด ในการส่งมอบข้อมูลที่ถูกต้องและทันท่วงทีแก่ประชาชน อีกทั้งเงินทุนที่พวกเขาได้รับ ก็ไม่เพียงพอสำหรับการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในโลก โดยบังกลาเทศ อินเดีย เนปาล และปากีสถาน คือ 4 อันดับแรกของประเทศที่มีมลพิษมากที่สุด ในแง่ของค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบถ่วงนํ้าหนักประชากรต่อปี (annualized, population-weighted averages) ขณะที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย เป็นเมืองใหญ่ซึ่งมีมลพิษมากที่สุดในโลก โดยมีระดับพีเอ็ม 2.5 เฉลี่ยต่อปี อยู่ที่ 126.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ขณะที่จีนเป็นประเทศซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างมาก ในการรับมือกับมลพิษทางอากาศ นับตั้งแต่ปี 2557 โดยมลพิษทางอากาศของจีนลดลงถึง 42.3% ระหว่างปี 2556-2564 ซึ่งหากแนวโน้มที่ดีขึ้นเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป พลเมืองชาวจีนโดยเฉลี่ยจะมีอายุยืนขึ้นอีก 2.2 ปี

อีกด้านหนึ่ง การดำเนินการทางกฎหมายในสหรัฐ เช่น กฎหมายอากาศสะอาด ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ 64.9% นับตั้งแต่ปี 2513 ส่งผลให้ชาวอเมริกันมีอายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.4 ปี

ทว่าภัยคุกคามจากไฟป่าที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเชื่อมโยงกับอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น และสภาพอากาศที่แห้งแล้งกว่าเดิม อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ กำลังทำให้มลพิษทางอากาศพุ่งสูงในหลายภูมิภาค ตั้งแต่ทางตะวันตกของสหรัฐ ไปจนถึงลาตินอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.