ทั้งนี้ การแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จก็มี “กรณีศึกษา” กลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (ธารโต)” หรือ “กลุ่มทุเรียนหนามเขียว” ที่มีบางสถาบันการเงินของรัฐเข้าไปมีส่วนช่วยส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และในวันนี้ชาวสวนทุเรียนในพื้นที่นี้ก็ “กินดี-อยู่ดี” ผ่านแนวทางที่สำคัญ นั่นก็คือ…

“มีความรู้-ทุนสนับสนุนการดำเนินงาน”

เพื่อจะ “ยกระดับคุณภาพทุเรียนยะลา”

จนทำให้ “เกษตรกรมั่นคงทางอาชีพได้”

เมื่อเร็ว ๆ นี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีโอกาสได้ร่วมคณะ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำโดย ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส.พร้อมด้วย พงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการ และ ไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการ ที่ได้นำคณะลงพื้นที่ อ.ธารโต จ.ยะลา เยี่ยมชม วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (ธารโต) ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและรวบรวมผลผลิตทุเรียนนำมาจำหน่าย  โดย ที่นี่ถือเป็น “ล้งทุเรียนแห่งแรก” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (ธารโต) เป็นผู้ร่วมดูแลและบริหารงาน“ล้งทุเรียน” ซึ่งทาง ซาวาวี ปูลา ผู้บริหารการตลาดและนโยบายกลุ่ม ให้ข้อมูลกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… ทางกลุ่ม บริหารจัดการการผลิตทุเรียน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การผลิต ดูแลรักษา รวบรวม และทำการตลาด เพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาทุเรียน และรวมถึงยกระดับมาตรฐานทุเรียน สำหรับส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ เพื่อพัฒนาการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันนี้มีเครือข่ายมากกว่า 20 กลุ่ม และมีสมาชิกมากกว่า 400 คน

ทั้งนี้ ในการดำเนินงานนั้น ทาง ธ.ก.ส. ได้ส่งเสริมสนับสนุนความรู้ ให้ทุนสมาชิกไปศึกษาดูงานแหล่งผลิตทุเรียนที่ จ.จันทบุรี และปี 2566 นี้ยังสนับสนุน“สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย” ให้กับทางกลุ่มด้วย 2 ล้านบาท สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่อง รวมถึงใช้เพื่อการ ต่อยอดยกระดับธุรกิจ ทั้งด้านการผลิต และการควบคุมมาตรฐาน

ฉัตรชัย ศิริไล

ทาง ซาวาวี ผู้บริหารการตลาดและนโยบายของกลุ่ม ให้ข้อมูลอีกว่า… ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนพื้นที่ จ.ยะลา จะเจอ “ปัญหา” คือ “หนอนทุเรียน” จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยก่อนจะเป็นวิสาหกิจชุมชน ทางกลุ่มเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของเกษตรกร 4-5 คน ช่วยกันคิดแก้ปัญหาจนเกิดองค์ความรู้การกำจัดหนอนทุเรียน ในที่สุด แต่…แม้ว่าจะสามารถแก้ปัญหาหนอนเจาะทุเรียนได้ เมื่อนำผลผลิตปีแรกที่ออกมา 50 ตันไปเสนอที่ จ.ชุมพร ก็ปรากฏว่าได้รับการแจ้งว่าผลผลิตมีน้อยเกินไป ซึ่งกลายเป็นอีกโจทย์ที่ต้องกลับมาหาทางแก้ปัญหาว่าจะทำเช่นไรถึงจะได้ผลผลิตที่มากขึ้น?

อย่างไรก็ดี ช่วงนั้นก็พอดีกับที่ ธ.ก.ส. เข้ามาสนับสนุนการรวมกลุ่มสร้างเครือข่าย สนับสนุนงบสัมมนาเพื่อเป็นเวทีพูดคุยระหว่างเกษตรกรด้วยกัน จนนำสู่การก่อตั้ง “วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (ธารโต)” โดยมีเป้าหมาย พัฒนาคุณภาพทุเรียนยะลาให้ดีขึ้น เพื่อส่งออกต่างประเทศ และเมื่อ “ทุเรียนยะลามีการยกระดับ” ก็ส่งผลให้ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมีรายได้เพิ่ม 30-40% หรือเฉลี่ยแล้วสมาชิกกลุ่มจะมีรายได้ต่อปี 1-2 ล้านบาท ขึ้นกับจำนวนไร่ที่ปลูก

และเมื่อทางกลุ่ม ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ ได้ ก็ถูกยกย่องเป็น “กลุ่มเกษตรกรต้นแบบที่มีการพัฒนาอย่างครบด้าน” จากการที่ สามารถบริหารจัดการได้อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ นั่นเองซึ่งหนึ่งใน “คีย์เวิร์ดสำคัญ” คือการที่ทางกลุ่มสามารถ ร่วมกันผลักดันให้เกิด “ล้งทุเรียนชาวบ้านแห่งแรกใน 3 จังหวัดชายแดนใต้” ได้สำเร็จ หลังจากได้เปิดให้สมาชิกร่วมลงทุนโดยล้งดังกล่าวทำหน้าที่ รวบรวม-กระจายผลผลิตทุเรียน

ทั้งนี้“ล้งทุเรียนชาวบ้านแห่งแรก” นี้ ซาวาวี ขยายความว่า… ล้งจะรับซื้อทุเรียนทุกเกรดจากสมาชิก และเกษตรกรทั่วไป โดยจะเน้นทำการตลาดส่งออกไปยังประเทศจีน เพราะเป็นตลาดทุเรียนที่ใหญ่ที่สุด และต่อมาเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทุเรียนล้นตลาด จึง ระดมทุนจากสมาชิกเพื่อจัดทำ “ห้องเย็นเก็บผลผลิต” ขึ้น ซึ่งเป็น ห้องเย็นแห่งแรกของ จ.ยะลา ที่มีเกษตรกรเป็นเจ้าของและผู้ลงทุน” โดยแนวคิดเรื่องห้องเย็นนี้เกิดขึ้นช่วงโควิด-19 ระบาดรุนแรง ที่ตอนนั้นทุเรียนยะลาขายไม่ได้เลย ส่งผลให้มีผลผลิตเหลือล้นตลาดจำนวนมาก จึงนำสู่การเกิดห้องเย็นแห่งแรกใน จ.ยะลา ที่มีเจ้าของเป็นเกษตรกร…

ขณะที่มี “เสียงสะท้อน” จาก อาแว สะมาแฮ ประธาน กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเบตง ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ภายหลังจากที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยเขาได้บอกเล่าให้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ฟังว่า… สมัยก่อนนั้นเกษตรกรมักจะดูแลทุเรียนโดยใช้ประสบการณ์อย่างเดียว ซึ่งทำให้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพไม่ค่อยดี แต่หลังจากได้เข้ามารวมกลุ่มก็ทำให้เกษตรกรมีความรู้มากขึ้น อีกทั้งยังได้นักวิชาการเข้ามาแนะนำเทคนิคต่าง ๆ ทำให้ได้ “ทุเรียนมีคุณภาพ” และ “ขายได้ราคาสูงขึ้น”

“เมื่อก่อนปลูกทุเรียนตั้ง 10 ไร่ ขายได้แค่ 2 แสนกว่าบาท พอรวมกลุ่ม แค่ปีแรกรายได้ก็เพิ่มเป็น 7 แสนบาท ปีถัดมาก็ขยับเป็น 1 ล้านบาท ทำให้ทุกคนยิ้มออก เพราะมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว” …นี่เป็นผลลัพธ์ที่ดีที่เกิดขึ้น

“เกษตรกรต้นแบบ” นี่ก็ “กรณีศึกษาที่ดี”

กับการ “พัฒนาอาชีพภาคเกษตรได้ดี”

และก็ “มั่นคงทางอาชีพได้น่าสนใจ”.