โรคผิวหนังอักเสบชนิด Seborrhea นี้เป็นความผิดปกติของต่อมไขมันที่ผลิตไขมันหรือ sebum มากเกินไป ทำให้เกิดรังแค, ผิวหนังลอก, คัน และผิวหนังแดง มักเกิดขึ้นบริเวณสันหลัง ใบหน้า ข้างลำตัว และตามรอยย่นผิวหนัง โรคผิวหนังที่ผิดปกติจากต่อมนี้มี 2 ชนิด เรียกว่า Seborrhea sicca หมายถึงผิวหนังที่มีความแห้ง มีสะเก็ดรังแคจำนวนมาก พบในสุนัขมากกว่า จะไม่ค่อยพบในแมว อีกชนิดเรียกว่า Seborrhea oleosa หมายถึงผิวหนังที่มีความมัน มีการสะสมของ keratin หรือ follicular material บนเส้นขน บางตัวอาจจะพบปื้นมัน มีกลิ่นตัว, อาการอื่นที่พบได้ เช่น มีสิว ขนร่วง จมูกและอุ้งเท้าหนา ตัว หูอักเสบ ขอบใบหูหนา หรือต่อมไขมันบริเวณหางทำงานมากเกิน ส่งผลให้ขนหางมันเยิ้มเกาะกันเป็นช่อ

ภาวะ Seborrhea นี้สามารถเกิดได้เองหรือเกิดขึ้นจากโรคอื่นโน้มนำก็ได้ หากเกิดความผิดปกติของการทำงานต่อมไขมันเองเราจะเรียกว่าโรคขั้นปฐมภูมิ ซึ่งมีผลมาจากพันธุกรรม สายพันธุ์ที่พบมากได้แก่ Cocker Spaniels, West Highland White Terriers, Basset Hounds เป็นต้น ส่วนความผิดปกติของการทำงานของต่อมโดยมีสาเหตุมาจากโรคหรือปัจจัยอื่นโน้มนำ เราจะเรียกว่าโรคทุติยภูมิ เช่น โรคฮอร์โมน, ภูมิแพ้, มีปรสิตภายนอก เช่น หมัด เห็บ หรือตัวไร, การติดเชื้อแบคทีเรีย รา หรือยีสต์, ขาดสารอาหาร, ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม อุณหภูมิและความชื้น หรือขาดการกรูมมิ่งที่เหมาะสม เป็นต้น

สพญ.วริษฐา โตศักดิ์สิทธิ์

การตรวจและประวัติสัตว์ป่วยช่วยในการวินิจฉัย

โรคปฐมภูมิ คือภาวะ Seborrhea ที่เป็นความผิดปกติของกระบวนการผลัดเซลล์ผิว ในชั้นที่ผลิตไขมัน ซึ่งประกอบด้วย ต่อมไขมัน และชั้นหนังกำพร้า (icfbulletin, BSAVA) มักจะไม่แสดงอาการคัน สามารถวินิจฉัยแยกแยะได้โดยการตัดโรคผิวหนังที่มีอาการคล้ายๆกันออกไป รักษาได้โดยการหมั่นอาบน้ำ เสริมวิตามิน A หรือ retinoid สำหรับโรคทุติยภูมิ อาการจะคล้ายกับโรคขั้นปฐมภูมิ แต่มีโอกาสพบอาการคันซึ่งบ่งบอกถึงการอักเสบหรือติดเชื้อร่วมด้วย ดังเช่นในม้า มักเกิดภาวะ Seborrhea ตามมาจากการที่สัตว์มีปัญหาเป็นโรค pemphigus foliaceus หรือ equine sarcoidosis

อายุสัตว์ป่วยช่วยในการวินิจฉัย พบว่าสัตว์ที่มีความผิดปกติของการผลัดเซลล์ผิวแบบปฐมภูมิ จะเริ่มแสดงอาการที่อายุ < 1 เดือน และมีอาการรุนแรงขึ้นตามอายุ ในรายที่มีปัญหาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) มักเริ่มแสดงอาการที่อายุ 1-3 ปี และที่มีความผิดปกติของฮอร์โมนจะเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยกลาง-วัยชรา หรือมีอาการเป็นฤดูกาล ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับอาการแพ้ สารก่อภูมิแพ้ หรือการมีหมัด หรือหากมีอาการกินน้ำเยอะปัสสาวะเยอะ กินเก่ง ก็สามารถช่วยวินิจฉัยแยกโรคที่มีความผิดปกติของฮอร์โมนออกได้

การรักษา เน้นการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของภาวะ Seborrhea สำหรับโรคขั้นปฐมภูมิใช้การรักษาแบบ topical และ systemic ร่วมกัน โดยการอาบน้ำ อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ด้วยแชมพูที่มีคุณสมบัติ keratolytic, keratoplastic, degreasing, moisturizing, antibacterial, antifungal, antiparasitic, anti-pruritic and/or anti-inflammatory

Keratolytic products จะประกอบด้วย sulfur, salicylic acid, tar, selenium sulfide, propylene glycol, fatty acids และ benzoyl peroxide ซึ่งจะช่วยลดรังแค และทำให้ผิวนุ่มขึ้น ภายใน 14 วันแรกหลังการใช้แชมพูชนิดนี้อาจจะเห็นว่าสะเก็ดรังแคเริ่มเยอะมากขึ้น เนื่องจากชั้นผิวส่วนเกินจะถูกขจัดออกมามากขึ้น ซึ่งปริมาณรังแคจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อใช้อย่างต่อเนื่อง

ท้ายที่สุดแล้วต้องพาน้อง ๆ ไปตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ตรงจุดกับสัตวแพทย์กันด้วยนะคะ.

สพญ.วริษฐา โตศักดิ์สิทธิ์
สัตวแพทย์ประจำหออภิบาลสัตว์ป่วยใน (IPD)
โรงพยาบาลสัตว์กรุงเทพ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย