โดยผมได้รับเกียรติให้มาช่วยคิดและพัฒนา Platform ข่าวด้านความยั่งยืนนี้ ร่วมกับทีม บก. ของเดลินิวส์ซึ่งผมมีความเห็นว่าข่าวความยั่งยืนมีอยู่แล้วมากมายและกระจัดกระจาย ที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครอ่านเพราะว่า หนึ่ง เข้าใจยากและมีศัพท์วิชาการมากมาย สอง ส่วนใหญ่เป็นข่าวเพื่อทราบข่าวแจกเหมือนโฆษณา หรือบางทีถ้าเขียนเชียร์มากไปก็อาจถูกโจมตีเป็นพื้นที่โฆษณาเพื่อฟอกเขียว Green Wash ให้องค์กรต่าง ๆ ได้ ผมจึงเสนอความคิดว่า เดลินิวส์น่าจะทำ “ข่าวเพื่อการเปลี่ยนแปลง” มากกว่าข่าวเพื่อทราบแบบทั่วไป ซึ่งเป็นแนวเดียวกับสำนักข่าวชั้นนำทั่วโลกที่ร่วมมือกับ UN เพื่อพัฒนา “Media for Change” ตอนที่ UN ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG ในปี ค.ศ. 2016 และควรลดความเป็นวิชาการลง เน้นเรื่องที่ชาวบ้านได้ประโยชน์ เขียนให้อ่านง่ายด้วยภาษาบ้าน ๆ เพิ่มดราม่าสีสันเข้าไปบ้าง แฉเบื้องหลัง-เบื้องลึกที่ชาวบ้านอยากรู้ และใส่ Logo SDG ที่เกี่ยวกับบทความนั้น ๆ ให้ผู้อ่านเกิดความคุ้นเคย ตลอดจนควรเชื่อมโยงกับมิติที่องค์กรต่าง ๆ สนใจ ซึ่งผมเสนอให้เชื่อมโยง Platform ข่าวความยั่งยืน ทั้งในหนังสือพิมพ์และ Social Media ต่าง ๆ ให้ครอบคลุมผู้อ่านตั้งแต่ Baby Boomer จนถึง Generation Alpha

ตอนแรกผมเข้าใจว่าภารกิจคือช่วยวาง Concept และทำ Workshop ให้ความรู้กับนักข่าวเพื่อให้เข้าใจเรื่อง CSR และ Sustainability เพื่อจะได้พัฒนา “ข่าวเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ได้อย่างลึกซึ้ง แต่ท่าน บก. และทีมงานบอกผมว่าให้ผมลองเขียนให้ดูเป็นตัวอย่างว่า “Media for Change” หน้าตาเป็นอย่างไร? ผมได้เรียนท่าน บก. และทีมนักข่าวว่าผมไม่มีทักษะและประสบการณ์การเขียนข่าวแบบมืออาชีพ ผมเคยเขียนแต่ตำราด้านความยั่งยืนให้นักวิชาการอ่าน ไม่ก็เขียนนวนิยายนํ้าเน่าไร้สาระให้เพื่อนอ่านคลายเครียด บก.ท่านบอกผมว่าเอาทั้ง 2 อย่างที่ผมเคยเขียนมาผสมกันน่าจะใช้ได้ให้ลองเขียนมาเลยครับ เดี๋ยวทีมงานจะช่วยเกลาให้เอง รับรองว่า Sustainable Sunday ปังแน่ จนระยะเวลา 5 เดือนผ่านไป ไม่น่าเชื่อเลยว่าผมกับทีมข่าวเดลินิวส์ช่วยกันทำ Sustainable Sunday กันอย่างสนุกสนานกว่า 60 บทความ ครอบคลุม SDG ทั้ง 17 ข้อ มีผู้อ่านใน Platform ต่าง ๆ อาทิตย์ละหลายล้านคน และทราบว่าบทความบางเรื่องถูกนำไปเสนอในที่ประชุมต่าง ๆ ในระดับนโยบาย ผู้คนในวงการความยั่งยืนก็สนใจพื้นที่ข่าวนี้มากขึ้น มีทั้งติดต่อมาเพื่อส่งเรื่องราวดี ๆ รวมถึงมีข้อเสนอแนะว่าอยากอ่านเรื่องอะไร ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันกว้างขวาง แม้นักขับเคลื่อนความยั่งยืนในต่างประเทศยังใช้ Google Translate แปลแล้วส่งต่อ เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ในบ้านเมืองของเขาด้วย ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ทุกท่านตั้งใจไว้ตอนเริ่มต้นได้ค่อย ๆ เติบโตอย่างช้า ๆ และเริ่มออกดอกออกผลอย่างงดงาม

ในบทความด้านความยั่งยืน 60 กว่าเรื่องนี้ ได้ถูกออกแบบไว้ในคอลัมน์ต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายต่างกัน มีสไตล์การเขียนสำหรับผู้อ่านในแต่ละกลุ่มต่างกัน ที่สำคัญบางครั้งยังมีมืออาชีพที่มีความรู้ลึกซึ้งมาช่วยเขียนให้ด้วยโดยคอลัมน์ที่ผ่านมามีดังนี้…

“CEO Forum” เป็นบทสัมภาษณ์พิเศษผู้นำองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ทั้งในประเทศและระดับโลกในบทความนี้จะเจาะลึกภาวะผู้นำว่าแต่ละท่านมีมุมมองเรื่องความยั่งยืนเช่นไร มีความฝันที่จะสร้างองค์กรยั่งยืนแบบไหน ความฝันนั้นแปลเป็นยุทธศาสตร์ แผนธุรกิจ และแผนขับเคลื่อนอย่างไร มีตัวอย่างผลงานที่จับต้องอะไรได้บ้าง และท่านตั้งใจที่จะแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างไร คอลัมน์นี้ได้ประโยชน์ทั้งผู้อ่าน และ CEO

“Sustainable Talk” เป็นคอลัมน์ที่ผู้อ่านชอบมาก เป็น variety แสบ ๆ คัน ๆ ในวงสังคมความยั่งยืน ผู้อ่านได้เรียนรู้ว่าความยั่งยืนนั้นอยู่รอบตัวเรา ไม่ใช่แค่เรื่องขององค์กรใหญ่ แต่ SDG ทุกข้อเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ซึ่งในแต่ละอาทิตย์บทความจะเกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัว เช่น บ้านและสวน รถยนต์ ยานยนต์ การศึกษา การทำมาหากิน ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ผังเมือง ภูมิอากาศ ความคิดเห็นคนใน Generation ต่าง ๆ ความยั่งยืนในวงการเมือง วงการดารา และล่าสุดวงการนางงาม ซึ่งคอลัมน์นี้จะมีดราม่าให้อ่านสนุก นำเสนอเบื้องลึกเบื้องหลัง และมีตัวอย่างดี ๆ จากทั่วโลกเพื่อเป็น case study โดยในหลาย ๆ คอลัมน์ถูกนำไปเสนอต่อระดับนโยบาย หรือพูดถึงในการประชุม ข้อควรระวังคือต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านและตีความ เพราะผู้อ่านมักสอบถามเสมอว่า นี่เขียนชมหรือเขียนด่า

“จิบกาแฟกับกูรู” เป็นคอลัมน์ที่เหมือนนั่งจับเข่าคุยกันสบาย ๆ กับมืออาชีพด้านความยั่งยืนว่าแต่ละคนมีมุมมองกับ SDG แต่ละข้ออย่างไร มีประเด็นใดที่อยากแลกเปลี่ยนบ้าง เป็นการเล่าเรื่องประสบการณ์การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แบบมืออาชีพในการทำงานด้านความยั่งยืน และถ้าผู้อ่านอยากพูดคุยกับเขานั้นจะติดต่อได้อย่างไร

“ชิม ช้อป ใช้ สายเขียว” เป็นคอลัมน์ที่แนะนำสินค้าและบริการรักษ์โลก ที่กำลัง In Trend รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น วิสาหกิจเพื่อสังคมที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความยั่งยืน

“นวัตกรรมเปลี่ยนโลก” เป็นคอลัมน์ที่นำเสนอนวัตกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจซึ่งคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา Pain Point ต่าง ๆ ที่กี่ยวข้องกับ SDG 17 ข้อ และการคิดค้นนวัตกรรมนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ผ่านขบวนการ Design Thinking แบบไหน รวมถึงสามารถ Scale Up เป็นธุรกิจใหม่ได้หรือไม่

“รอบรู้ รอบโลก” เป็นคอลัมน์เล่าเรื่องความเคลื่อนไหวในแวดวงความยั่งยืนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่เชื่อมโยง Global กับ Local รวมถึงเหตุการณ์เหล่านั้นเกี่ยวพันกับเราอย่างไร และจะต้องเตรียมตัวรับมือ หรือปรับตัวกันอย่างไร

“เสียงกระซิบจากคนตัวเล็ก” เป็นคอลัมน์ที่สะท้อนความคิดเห็นของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม คนด้อยโอกาส คนที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง เพื่อเป็นกระบอกเสียงประชาชนที่อยากสื่อสารไปยังผู้มีอำนาจ หน่วยงานรัฐ หรือผู้ที่กำหนดนโยบาย ซึ่งคอลัมน์นี้ชาวบ้านชอบอ่าน และมักมีข้อเสนอแนะที่ผู้อ่านมักจะนำไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสภากาแฟทั่วประเทศตอนเช้าวันอาทิตย์

“พันธกิจรัฐ” เป็นคอลัมน์ให้หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้เพื่อสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งระดับนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนตาม SDG แต่ละข้อ อีกทั้งคอลัมน์นี้บางครั้งก็เป็นการชี้แจง และตอบข้อสงสัยจากคอลัมน์เสียงกระซิบจากคนตัวเล็ก

“Young Change Maker” เป็นคอลัมน์เพื่อคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้น้อง ๆ ที่มีศักยภาพแสดงผลงานเกี่ยวกับ SDG ข้อต่าง ๆ เพื่อนำเสนอความคิด และสิ่งที่ทำเพื่อเป็นต้นแบบหรือแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่

“สุขสม บ่มิสม อย่างยั่งยืน” คอลัมน์นี้ได้แรงบันดาลใจจากการตอบปัญหาเรื่องเพศของคุณหมอนพพร ที่มีผู้อ่านเขียนเข้ามาถามคำถามที่สงสัยเรื่องปัญหาทางเพศ ที่คอลัมน์นี้ได้นำรูปแบบมาเปลี่ยนเป็นการตอบคำถามด้านความยั่งยืนที่ผู้อ่านเขียนมาถามเพราะความสงสัย หรืออยากได้เทคนิค How To โดยมีคุณหมอมาร์คเป็นผู้ตอบและไขปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ ซึ่งคอลัมน์นี้มีผู้อ่านชอบมาก และมักมีผู้ถามเสมอว่า คุณหมอมาร์คประจำอยู่โรงพยาบาลไหน มีใบประกอบโรคศิลปะหรือเปล่า

ทั้ง 10 คอลัมน์นี้วนเวียนอยู่ในหน้า Sustainable Sunday หน้า 9 ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์วันอาทิตย์ในตลอดเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา โดยมีบทความกว่า 60 เรื่อง ซึ่งอ่านย้อนหลังได้ทาง เดลินิวส์ออนไลน์ หมวด Sustainability และจากการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้อ่านที่สนใจด้านความยั่งยืน ก็ได้มีเสียงเรียกร้องมาที่ผู้บริหารเดลินิวส์ว่า ทำไมมี Sustainable Sunday แค่วันอาทิตย์ ทั้งที่ผู้อ่านอยากอ่านข่าวความยั่งยืนทุกวัน ผู้บริหาร และ บก. จึงตัดสินใจ ปรับเปลี่ยนจาก Sustainable Sunday หน้า 9 วันอาทิตย์มาเป็น “Sustainable Daily ในหน้า 4 วันอังคารจนถึงวันศุกร์ โดยใน วันอังคารจะเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม E (Environment), วันพุธเน้นเรื่องเกี่ยวกับสังคม S (Social), วันพฤหัสบดีเน้นเรื่องเกี่ยวกับธรรมาภิบาล G (Governance) หรือผสมผสานกันเพราะ ESG คือ องค์รวม และ วันศุกร์ยังคงเสนอเรื่องราวความยั่งยืนแบบดั้งเดิม C (Classic) โดยฤกษ์งามยามดีได้มีการเปิดตัว “Sustainable Daily” ไปแล้ว เมื่อวันอังคารที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้อ่านสามารถติดตาม ติชม เสนอแนะเข้ามาได้ที่ [email protected] และยังจะมี “สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ของเดลินิวส์ เตรียมทยอยเปิดตัวออกมาเรื่อย ๆ ในปีนี้…โปรดติดตามตอนต่อไป.