ซึ่งเกี่ยวกับเรื่อง“แรงงาน” นั้นเมื่อวันก่อน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้สะท้อนต่อข้อมูลการสำรวจวิเคราะห์ในระบบออนไลน์โดยทีมวิจัยทีดีอาร์ไอ ที่พบว่าช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2566 การเปิดรับสมัครงานมีตำแหน่งงานลดลงราว 2 หมื่นตำแหน่ง อีกทั้งตำแหน่งงานยังกระจุกตัวในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล…

ด้านหนึ่ง…“ตำแหน่งงานในไทยลดลง”

อีกด้าน…“ไทยมีแนวโน้มขาดแรงงาน”

สรุปแล้ว…“เรื่องแรงงานนี่ยังไงแน่??”…

ทั้งนี้ เรื่องแรงงาน 2 ด้านที่ดูย้อนแย้งนั้น…จริง ๆ “ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรต้องสนใจ” ทั้ง 2 ด้าน โดยในด้าน “แรงงานไทยหายไป” นั้นเป็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจากการที่สังคมไทยเข้าสู่ “ยุคคนเกิดน้อยลง” ซึ่งส่งผลให้ “มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน” ได้ในอนาคต โดยในเวทีเสวนาเชิงนโยบายดังกล่าวข้างต้น ที่จัดโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้มีการเสนอแนวทาง “แก้ปัญหาด้วยการนำเข้าประชากรมาทดแทน” ซึ่ง ผศ.ดร.สักกรินทร์ นิยม หนึ่งในนักวิชาการของสถาบันฯ ได้สะท้อนเรื่องนี้ไว้ว่า… ประเทศไทยจำเป็นต้องนำนโยบายการนำเข้าประชากรมาคิดได้แล้ว โดย ควรเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญเพื่อไม่ให้ประเทศไทยเฉาลงไปเรื่อย ๆ จากการที่ผู้คนค่อย ๆ ลดลง จนนำไปสู่สถานการณ์ที่ ประชากรของประเทศมีแต่ผู้สูงวัย…แต่ไม่มีคนทำงาน เหมือนที่บางประเทศในยุโรปใต้เกิดปัญหานี้

ถ้าถึงจุดนั้น…“ไทยอาจจะล้มละลาย!!”

ทาง ผศ.ดร.สักกรินทร์ ได้สะท้อนเพื่อให้เห็นภาพ “วิกฤติที่จะเกิดขึ้นกับไทยในอนาคต” โดยระบุไว้ว่า… ปัจจุบันพบว่า…ทั่วโลกเกิดปรากฏการณ์มีแรงงานย้ายถิ่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และในหลายพื้นที่นั้น “เกิดสงครามแย่งชิงผู้มีทักษะ”กันแล้ว ด้วยการที่ รัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศแข่งขันกันออกนโยบายเพื่อดึงดูดใจ “แรงงานข้ามชาติทักษะสูง” ให้เข้าทำงานในประเทศของตน ขณะที่ในส่วนของประเทศไทย…ปัจจุบันไทยมีแรงงานข้ามชาติอยู่ในระบบราว 3-4 ล้านคน ซึ่งหากในอนาคตประชากรของไทยลดลง ไทยก็จะยิ่งต้อง “อาศัยแรงงานข้ามชาติ” เพิ่มขึ้น…เพื่อ “ทดแทนวัยแรงงานที่หายไป”

“จะช้าจะเร็วก็ต้องนำเข้าแรงงานอยู่ดี ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งทำคือการผลักดันนโยบายมุ่งเน้นที่กลุ่มแรงงานทักษะสูง ด้วยนโยบายที่จูงใจให้อยากมาทำงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนโยบายที่ทำให้แรงงานทักษะสูงเหล่านี้สามารถพำนักได้ในระยะยาว ไม่ใช่วีซ่าปีต่อปี หรือบางส่วนอาจขอเป็นพลเมืองไทยได้ ถ้ามีคุณสมบัติตามที่เราต้องการ”

นี่เป็นข้อเสนอ “เพิ่มแรงงานทักษะสูง”

นอกจากนั้น ผศ.ดร.สักกรินทร์ ยังระบุไว้อีกว่า… ในอดีตไทยนำเข้าแต่แรงงานทักษะต่ำเป็นหลัก แต่ในอนาคตไทยต้องเน้นที่แรงงานกลุ่มทักษะสูงเพิ่มขึ้น หากต้องการจะก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งตอนนี้หลายประเทศได้มีการออกนโยบายที่มุ่งดึงดูดแรงงานกลุ่มนี้กันบ้างแล้ว อาทิ มาเลเซีย ที่วางเป้าไปจนถึงปี 2578 ว่า…ต้องการแรงงานจากประเทศใดบ้าง หรืออย่าง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ก็ปรับยุทธศาสตร์และเปลี่ยนมุมมองเรื่องนี้กันหมดแล้ว โดยต่างก็เห็นตรงกันว่า… “จะขับเคลื่อนพัฒนาประเทศในโลกยุคนี้ได้ การดึงคนต่างชาติเก่ง ๆ ให้เข้าทำงานในประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญ

ทางด้าน อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ สะท้อนเรื่องนี้ไว้ในเวทีเสวนาเชิงนโยบายดังกล่าวว่า…ไทยมีแนวโน้มขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันไทยก็ต้องนำเข้าแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ คือ เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม เพื่อมาทำงานในภาคเกษตร ก่อสร้าง บริการ และการผลิตอาหาร โดยเดือน มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมามีตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทยเกือบ 2.5 ล้านคน ก็สะท้อนว่า…ไทยมีการนำเข้าแรงงานต่างชาติมาทดแทนแรงงานในประเทศอยู่แล้ว แต่ คำถามสำคัญก็คือ…นโยบายนำเข้าแรงงานของไทยขณะนี้ดีพอ-เหมาะสมหรือยัง??

มีข้อจำกัดใดที่ควรปรับปรุงหรือไม่???

“ต้องยอมรับว่า…แม้แรงงานข้ามชาติจะสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ในแง่กฎหมายกับระบบเรามีข้อจำกัด เนื่องจากมีเรื่องความมั่นคงผูกโยงอยู่ ทำให้ขั้นตอนการยื่นขอเอกสารการคัดกรองการเข้าเมืองค่อนข้างยุ่งยาก และใช้เวลานาน ทำให้แรงงานกลุ่มทักษะสูงไม่สนใจที่จะเข้ามา ซึ่งเป็นปัญหาที่ไทยจะต้องปลดล็อก” …นี่ก็เป็นอีกแง่มุม

ทั้งนี้ แล้วถ้าไทยจำเป็นต้อง “นำเข้าประชากรแรงงานทักษะสูงแบบมุ่งเน้น” จริง ๆ กรณีนี้ “ประเทศไทยควรจะต้องมีมุมมอง-มีนโยบายอย่างไร?”… กับประเด็นนี้ในเวทีเสวนา “แรงงานไทยหายไป…แรงงานข้ามชาติเข้ามาทดแทนได้หรือไม่?”ที่จัดโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ก็มีนักวิชาการเสนอ“มุมมอง-วิธีการ” ไว้น่าสนใจ

ยุคนี้ “โลกมีศึกแย่งชิงแรงงานทักษะสูง”

นี่เป็น “อีกเรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องสนใจ”

“ดึงแรงงานทักษะสูงอยู่ไทย-เข้าไทย”…

“ต้องทำเช่นไร??” ตอนหน้ามาดูต่อ…