แต่การผลิตของโรงงานขนาดใหญ่ จำเป็นต้องปล่อยเกินปริมาณที่กำหนดไว้ ทำให้ต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ผลิตรายอื่น เหมือนเป็นการซื้อโควตาเพิ่มมาชดเชยกับการผลิตที่เกินปริมาณ ไม่เช่นนั้นต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จากการถูกจ่ายปรับ จึงทำให้มีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตสูงขึ้นต่อเนื่อง เพื่อชดเชยส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไป

จากทิศทางความต้องการที่สูงขึ้นนี่เอง จึงถือเป็นโอกาสของเกษตรกรไทย หรือคนที่มีพื้นที่เหลือ ต้องการปลูกป่า เพื่อขายคาร์บอนเครดิต ลองมาดูว่า จะคุ้มค่าหรือไม่ หรือจะทำอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด!

คาร์บอนเครดิต เป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บได้จากการปลูกต้นไม้ ปัจจุบัน การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทำได้ 2 รูปแบบ 1. ซื้อขายในระบบทวิภาค เป็นการตกลงเจรจากันระหว่างผู้ต้องการซื้อ และผู้ขายโดยตรง ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการที่ต้องการขายคาร์บอนเครดิตของตนโดยไม่ผ่านตลาด 2. ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย หรือศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ในประเทศไทย สามารถลงทะเบียนผ่านโครงการ T-VER ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรืออบก. ซึ่งจะให้การรับรองคาร์บอนเครดิต นำไปซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยน และใช้ในกิจกรรมการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

 “อภิสิทธิ์ เสนาวงค์” นักวิชาการชำนาญการพิเศษ สำนักรับรองคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้อธิบายขั้นตอนแบบฉบับที่เข้าใจง่าย ๆ ในการซื้อขายผ่านโครงการ T-VER ว่า ต้องดูความพร้อมในการขายผ่านโครงการ เริ่มตั้งแต่เข้าไปศึกษารายละเอียดในเว็บไซต์ของ อบก. เริ่มตั้งแต่ดูชนิดไม้ที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นไม้ยืนต้นที่มีเนื้อไม้และมีอายุยืนนานหลายปี เช่น ตะแบกเลือด ไม้สัก พะยูง ประดู่ป่า ประดู่บ้าน มะค่าโมง มะค่าแต้เคี่ยม เคี่ยมคะนอง เต็ง รัง , พื้นที่ดำเนินโครงการต้องไม่น้อยกว่า 10 ไร่ สามารถนำหลาย ๆ แปลงมารวมกันได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผืนเดียวหรือแปลงเดียวกัน

นอกจากนี้ต้องมีเอกสารสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น โฉนดที่ดิน ส.ป.ก. น.ส.3 น.ส. 3 ก. หรือเอกสารที่ยืนยันได้ว่าเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่นั้น ๆ ยินยอมให้ดำเนินการ เช่น สัญญาเช่า หนังสือการอนุญาตจากหน่วยงานราชการเจ้าของที่ดิน, โครงการคาร์บอนเครดิตประเภทป่าไม้มีอายุโครงการ 10 ปี หลังจากวันที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโครงการ และการคำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิต ต้องเป็นไปตามระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER Methodology) ที่ประกาศในเว็บไซต์ http://ghgreduction.tgo.or.th/th/t-ver.html

แล้วพื้นที่แบบไหนที่เข้าร่วมโครงการ T-VER ได้ รูปแบบที่ 1 พื้นที่เป็นที่โล่งไม่มีต้นไม้ หรือยังไม่มีปลูกต้นไม้ จะเรียกว่า โครงการมีค่า การกักเก็บคาร์บอน กรณีฐานเป็น 0 หรือการกักเก็บคาร์บอน ณ วันที่เริ่มต้นโครงการเป็น 0 จะได้ทำให้คาร์บอนเครดิตได้สูงกว่าพื้นที่ที่ปลูกต้นไม้อยู่แล้วมาเข้าร่วมโครงการ เพราะการคำนวณจะได้คาร์บอนเครดิตตั้งแต่กิโลกรัมแรกเลย

รูปแบบที่ 2 เป็นพื้นที่ที่ปลูกต้นไม้ไว้อยู่แล้ว เรียกว่า โครงการมี ค่าการกักเก็บคาร์บอน กรณีฐานไม่เท่ากับ 0 ซึ่งเจ้าของโครงการจะต้องให้ผู้ประเมินภายนอกทำการวัดค่าการกักเก็บคาร์บอน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลประกอบการขอขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER เดิมไว้ก่อน เช่น ของเดิมปลูกป่าไว้แล้ว 3 ปี มีค่าการกักเก็บคาร์บอนได้เท่าไร หลังจากนั้น 3 ปี มาวัดอีกครั้ง เพื่อดูส่วนต่าง นำค่าการกักเก็บปัจจุบันตั้งลบด้วยค่าการกักเก็บในอดีตที่เป็นปีฐาน มาคิดคำนวณ

ในส่วนของผู้ประเมินภายนอกที่จะเข้ามาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ทั้งในส่วนของเอกสารที่ผู้พัฒนาโครงการจัดทำและสุ่มตรวจพื้นที่จริง ขั้นตอนนี้ จะมีค่าใช้จ่ายที่ผู้พัฒนาโครงการต้องจ่ายให้กับผู้ประเมินภายนอก ราคาเริ่มต้นประมาณ 80,000 บาทต่อโครงการ ในส่วนนนี้อบก. จะไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ถ้ามองว่า ค่าใช้จ่ายสูงเกินไป สามารถไปเชิญชวนเพื่อน ๆ รอบพื้นที่ปลูกของเรา ให้มาขึ้นทะเบียนร่วมกัน เป็น 1 โครงการได้ จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง

ทั้งนี้ปัจจุบันมีโครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ อบก. 49 โครงการ ในพื้นที่ดำเนินโครงการทั้งหมดจำนวน 361,871 ไร่ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะกักเก็บได้ 361,895 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี การซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ในปัจจุบัน มีการซื้อขายไปแล้ว 3 โครงการ ราคาตํ่าสุด 55 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ราคาสูงสุดที่ 2,000 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีการซื้อขายกันล่าสุดที่ราคา 300 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ที่สำคัญเราต้องตั้งโจทย์กับตัวเองก่อนว่าเราปลูกป่าต้องการประโยชน์อะไร ถ้ามองว่าอยากปลูกป่าเพื่อเอากำไรขายคาร์บอนเครดิตเพียงอย่างเดียว ประเด็นนี้จะไม่คุ้มค่า เพราะถ้าต้องการมูลค่าจากการปลูกป่าจริง ๆ จะอยู่ที่เนื้อไม้ ใบ ดอกที่มีมูลค่า เช่น ปลูกไม้มีค่า อีก 10-20 ปี ไม้นั้นก็จะมีค่า ส่วนคาร์บอนเครดิตถือว่าเป็นส่วนมูลค่าเสริมขึ้นมา แต่ที่สำคัญที่สุดการปลูกป่า ปลูกต้นไม้ จะทำให้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์โลกจะน่าอยู่ขึ้นอย่างแน่นอน.