ท่ามกลางการติดต่อสื่อสารที่อยู่ในมือทุกคน การแสดงความคิดเห็นที่โอกาสเป็น “เรื่องของชาวบ้าน” มีสูง หรือการจะโพสต์ความขัดข้อง หมองใจของตัวเองให้ชาวโลก (ออนไลน์) รู้ก็เกิดขึ้นง่าย จนบางครั้งเลยเถิด ข้ามเส้น เพราะไปเข้าข่ายบิดเบือน ให้ร้าย พาดพิง หรือละเมิดสิทธิบุคคลอื่น ซึ่งในทางกฎหมายมี 2 กรณีที่ต้องระมัดระวังก่อนโพสต์ หรือเข้าไป “ผสมโรง” นั่นคือความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

“ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถาม นายนิติศักดิ์ มีขวด ทนายความ เพื่ออธิบายข้อกฎหมาย จะได้ไม่พลาดพลั้งตกเป็นจำเลย เพียงเพราะคึกคะนอง เพราะบางครั้งการกระทำโดยขาดสติไม่รู้ข้อเท็จจริงเหตุการณ์ อาจทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสียหายได้

“ความผิดฐานหมิ่นประมาท” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

คำว่า “ใส่ความ” หมายถึง การพูดหาเหตุร้าย หรือกล่าวเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ยืนยันข้อเท็จจริง เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 3877/2565 การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 324 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าว ได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความ เป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ข้อความและภาพถ่ายที่ดินที่จำเลยโพสต์ใน Facebook ไม่ได้ระบุชื่อโจทก์โดยตรง แต่เมื่อนำมาพิจารณาประกอบความเห็นจำเลยที่ตอบคำถามเพื่อนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า คนที่จำเลยกล่าวหมายถึงใคร จำเลยตอบว่า คือคนข้างบ้าน และข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความคนในหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งเป็นบุคคลที่สามที่ทราบเรื่องที่จำเลยใส่ความว่า เมื่อเห็นข้อความและภาพที่ดิน เข้าใจได้ทันทีว่าจำเลยหมายถึงโจทก์   

“ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 238 “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท”

ความผิดฐานดังกล่าว คือการทำให้เผยแพร่ข้อความที่หมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชน เช่น การลงข้อความหมิ่นประมาทในสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ที่เปิดเป็นสาธารณะ เป็นต้น

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 10839/2557 การที่จำเลยไปให้ข่าวและหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวแพร่หลายทั่วจังหวัดลำปางว่า ซื้อสลากเลขท้ายแล้วถูกรางวัล โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงิน ซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ความ และการที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าว ย่อมทราบดีว่าผู้รับข้อความเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน อาจนำเสนอข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป ถือว่ามีเจตนาเล็งเห็นผล

อย่างไรก็ตาม กฎหมายมี “ข้อยกเว้น” การกระทำหรือการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ได้แก่ (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือการประชุม

สรุปการโพสต์ การวิจารณ์ หรือการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่หากข้อความนั้นทำให้ผู้อื่นเสียหายก็อาจเข้าข่ายถูกดำเนินคดี

ขณะที่การกดแชร์ข้อความหมิ่นประมาท ก็ควรกระทำด้วยความระมัดระวัง เพราะเมื่อกดแชร์ข้อความอันหมิ่นประมาทออกไป โดยที่มิได้มีส่วนได้เสีย หรือไม่ได้มีส่วนร่วม หรือเกี่ยวข้องใดๆ จะอ้างข้อต่อสู้ได้ยาก. 

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]