แม้ตอนนี้ยังมีสมาชิกเพียง 5 ประเทศ แต่ประชากรในกลุ่มมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 40% ของประชากรโลก และบริกส์ยังก่อตั้งธนาคารพัฒนาของตัวเอง เพื่อให้เป็นทางเลือกจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( ไอเอ็มเอฟ ) และธนาคารโลก ( เวิลด์แบงก์ ) ที่ตะวันตกเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ด้วย

ด้วยความเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก จีนจึงถือเป็นสมาชิกทรงอิทธิพลที่สุดของบริกส์ รัฐบาลปักกิ่งพยายามผลักดันการเพิ่มจำนวนสมาชิกมานานระยะหนึ่งแล้ว และการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางมาร่วมประชุมที่แอฟริกาใต้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการออกนอกประเทศเป็นครั้งที่สองเท่านั้นในปีนี้ ได้รับการวิเคราะห์จากหลายฝ่าย ว่ายิ่งเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของจีน ในการเพิ่มจำนวนสมาชิกเข้าสู่กลุ่มบริกส์

คณะผู้แทนของซาอุดีอาระเบียปรึกษากัน ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์ ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้

สีกล่าวต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มบริกส์ ซึ่งแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพในปีนี้ มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า “ลัทธิเจ้าโลกหรือการใช้อำนาจครอบงำไม่ได้อยู่ในสายเลือดของจีน” ขณะเดียวกัน การก่อตั้งและการประชุมบริกส์ “ไม่ใช่การโน้มน้าวให้ประชาคมโลกเลือกข้าง” หรือ “เป็นการสร้างกลุ่มเพื่อการเผชิญหน้า” แต่ “เพื่อขยายขอบเขตของสันติภาพและการพัฒนา” พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า บริกส์คือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเติบโตในทุกมิติ ที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดรับสมาชิก หรือการมุ่งมั่นสร้างความเท่าเทียม

ท่ามกลางบริบททางภูมิศาสตร์การเมืองโลก ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากในปัจจุบัน สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนซึ่งยืดเยื้อ ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดให้กับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ในแทบทุกองค์ประกอบ ส่งผลให้ประเทศอื่นที่เหลือ ยิ่งต้องประเมินสถานการณ์ด้วยความระมัดระวังเช่นกัน และบริกส์ กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งกลายเป็นที่ต้องการมากขึ้น

ท้องถนนในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ในช่วงจัดการประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์

ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา ผู้นำแอฟริกาใต้ ประกาศว่า สมาชิกปัจจุบันทั้ง 5 ประเทศ เห็นพ้องให้มีการขยายจำนวนสมาชิกเพิ่มอีกอย่างน้อย 6 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา อิหร่าน เอธิโอเปีย อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( ยูเออี ) โดยการเข้าเป็นสมาชิกของทั้ง 6 ประเทศ จะมีผลอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 ม.ค. 2567

อย่างไรก็ดี อินเดีย แอฟริกาใต้ และบราซิล ต่างยังคงต้องขับเคลื่อนนโยบายแบบ “รักษาสมดุล” กับทั้งจีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งและคู่ปรับทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ประเทศอภิมหาอำนาจ ที่มีอิทธิพลในระดับสูงต่อโครงสร้างระเบียบโลกในปัจจุบัน ดังนั้น การเลือกสมาชิกใหม่เข้ากลุ่มในครั้งนี้ ยังคงต้องเป็นการพิจารณาอย่างระมัดระวัง และผ่านการประเมินอย่างรอบคอบแล้ว ว่าจะไม่ใช่การยกระดับความตึงเครียดด้านภูมิศาสตร์การเมืองกับฝ่ายใด

ธงชาติของ 5 ประเทศสมาชิกปัจจุบันของบริกส์ ได้แก่ แอฟริกาใต้ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน

ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของสหรัฐยังไม่ถือว่าบริกส์ “คือคู่แข่งทางภูมิศาสตร์การเมือง” และมองว่า บริกส์ “ยังไม่มีความเป็นเอกภาพมากพอ” เนื่องจากเป็นการรวมกลุ่มของประเทศ “ที่เป็นทั้งมิตรและศัตรูกัน”.

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าบริกส์จะมีการเติบโตและขยายตัวมากกว่านี้ ตลอดจนการยังคงเป็น “ขั้วอำนาจทางเลือก” ให้กับนานาประเทศ ฉันใดฉันนั้น การที่สมาชิกดั้งเดิมของบริกส์ทั้ง 5 ประเทศ และสมาชิกใหม่อีก 6 ประเทศ มีความแตกต่างกันในหลายด้านอยู่แล้ว จึงเป็นประเด็นเช่นกันว่า จีนจะสามารถผลักดันเป้าหมายของตัวเอง ทั้งในเรื่องการเพิ่มจำนวนสมาชิก และอีกหลายเรื่อง ให้สามารถบรรลุผลได้มากน้อยเพียงใด.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES