น้อง พ. : คุณอาหมอคะ หนูอยากรู้ว่าที่จริงแล้ว CSR คือการบริจาค ทำโครงการสำหรับ PR ลงสื่อ หรืออะไรแน่ เพราะเคยอ่านที่คุณอาหมอเขียนเรื่อง CSR 1.0-5.0 จึงขอให้ช่วยอธิบายอีกทีได้ไหมว่า องค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ที่มี CSR ที่ดีนั้นควรเป็นอย่างไร?

คุณหมอมาร์ค : น้อง พ. คงเป็นข้าราชการบรรจุใหม่ดาวรุ่ง เจ้านายจึงมอบงานสำคัญมาให้ โชคดีที่ไม่ต้องคอยตามถือกระเป๋าเหมือนกระทรวงอื่น ๆ มาเรื่องของเราดีกว่า คำว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ “CSR” นั้น มีผู้คนเข้าใจผิดเสมอ ซึ่งสำหรับนัก CSR ยุคบุกเบิกนั้น CSR จะหมายถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรธุรกิจ หรือตลอดห่วงโซ่สินค้าและบริการ เรามักเรียกความรับผิดชอบต่อสังคมในขบวนการธุรกิจว่า CSR in Process ส่วนการบริจาคและทำโครงการต่าง ๆ นอกขบวนการธุรกิจนั้น จะเรียกว่า CSR after Process แต่สื่อและสังคมทั่วไปมักมอง CSR after Process หรือการบริจาคว่าเป็น CSR

ส่วน CSR in Process นั้น หลายคนมักมองเป็นเรื่อง Sustainability เช่น การใช้พลังงาน, ร่องรอยคาร์บอน, น้ำ, ธรรมาภิบาล, สิทธิมนุษยชน และเรื่องแรงงาน เป็นต้น ดังนั้นคำว่า CSR จึงครอบคลุมทั้งขบวนการธุรกิจ โดยถ้าดูรายละเอียดใน ISO 26000 ก็จะครอบคลุมถึงเรื่องของการกำกับดูแลกิจการ สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม การดำเนินธุรกิจที่เป็นธรรม การรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน

ดังนั้น CSR ที่แท้จริงคือความรับผิดชอบต่อสังคมในภาพรวม รวมถึงการเป็นองค์กรที่ดี ส่วนที่เข้าใจว่า CSR เป็นแค่การบริจาคนั้นถือเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ที่เรามักจะเข้าใจผิดกัน ส่วน CSR ในยุคต่าง ๆ แตกต่างกันอย่างไร เราลองมาสำรวจองค์กรต่าง ๆ ว่าเขาอยู่ใน Version ไหน เริ่มจาก “CSR 1.0” ความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการบริจาค พวกเราคุ้นกับสิ่งนี้ และมักเข้าใจผิดเสมอว่านี่คือ CSR “CSR 2.0” ความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการทำโครงการตอบแทนคืนกำไรให้สังคมจากโครงการเพื่อ PR โดยอาจพัฒนาเป็นโครงการต่อเนื่องตามความต้องการของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสีย จนเป็นโครงการยุทธศาสตร์ที่ใช้พลังทางธุรกิจขับเคลื่อน “CSR 3.0” ความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับยุทธศาสตร์ ที่สามารถสังเกตได้ตามเป้าหมายทาง ESG และบริษัทที่อยู่ในเวอร์ชั่นนี้ ก็จะมี SD Report ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ และผู้บริหารส่วนใหญ่จะพูดเรื่องนี้ได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะมักจะใช้เป็นหลักตัดสินใจทางธุรกิจเสมอ “CSR 4.0” ความรับผิดชอบต่อสังคมที่อ้างอิงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 17 ข้อ โดยถ้าดูในรายงานความยั่งยืนจะเห็นการแบ่งหมวดหมู่ตาม SDG ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และจะมีข้ออ้างอิงตาม GRI Global Report

“CSR 5.0” ความรับผิดชอบที่เน้นดัชนีความสุขของมวลมนุษยชาติ จากสูงสุดสู่สามัญ นี่เป็น CSR ในยุคต่าง ๆ ในเวอร์ชั่นต่าง ๆ ซึ่ง น้อง พ. ลองนำแนวทางเหล่านี้ ไปใช้ในการจัดทำหลักเกณฑ์การให้รางวัลนะคะ และหลักสำคัญก็คือจะต้องมองให้ลึกไปในจิตวิญญาณขององค์กร โดยที่จะต้องมีหัวใจสำคัญ นั่นคือ “การมี DNA องค์กรที่ดีที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม”.

คุณหมอมาร์ค