เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ห้องยี่เป็งแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 รร.มีเลียเชียงใหม่ ต.ช้างคลาน อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้นายวรงค์แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดการประกวดการออกแบบตัดเย็บชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก ระดับภาคเหนือ โดยมี คณะกรรมการตัดสิน ได้แก่ นางกุสุมาล พงษ์สิทธิถาวร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงใหม่ นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย รศ.ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำปางนางศุภกาญจน์ โรจนโสทร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพะเยา นางวรรณฤดี กิจเจริญรุ่งโรจน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดตาก นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยเจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒนายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH และผู้เข้าประกวดได้แก่ ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย นักออกแบบ และตัดเย็บชุดผ้าไทย รวม20 ทีม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม

นายวรงค์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชน น้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้ทรงมุ่งมั่นในการสืบสานงานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงเป็นสมเด็จย่าของพระองค์ท่าน ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศที่พระองค์ทรงเล็งเห็นว่ายังมีความยากลำบาก จึงทรงใช้พระปรีชาชาญที่ทรงศึกษาเล่าเรียนทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และด้านการออกแบบแฟชั่นดีไซน์ในต่างประเทศ พระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทยเพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศทุกวัย และทุกโอกาส พร้อมทั้งพระราชทานพระดำริให้คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกได้ร่วมกันพัฒนาศักยภาพของช่างทอผ้า ผู้ผลิต ผู้ประกอบการผ้า และได้พระราชทานผ้าลายพระราชทาน อาทิ ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ลายดอกรักราชกัญญารวมทั้งเสด็จเยี่ยมเยียนและพระราชทานคำแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าให้กับราษฎรในจังหวัดต่างๆ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำพระดำริเหล่านั้น ขับเคลื่อนเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติในวาระสำคัญที่ผ่านมา คือ “ดอนกอยโมเดล” ต้นแบบการพัฒนาผ้าย้อมครามสู่งานคอลเลคชั่นผ้าไทยร่วมสมัย ยกระดับภูมิปัญญาไทยสู่ตลาดโลก เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเจริญพระชนมายุครบ 36 พรรษา ด้วยการส่งเสริมพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการผ้าย้อมครามบ้านดอนกอยต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร และโครงการสืบสานพระราชปณิธานนาหว้าโมเดลในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ วัดธาตุประสิทธิ์ อ.นาหว้า จ.นครพนม

นายวรงค์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดยดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระราชทานแนวทางพระดำริ ทำให้ทุกวันนี้ผืนผ้าไทยทั่วประเทศได้รับการพัฒนาทักษะและต่อยอดผู้ประกอบการ ช่างทอผ้า จนมีลวดลายที่สวยงาม ทันสมัย และเป็นผืนผ้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็น Sustainable Fashion จึงสมควรที่จะได้น้อมนำผลสำเร็จจากพระดำริเหล่านี้ ด้วยการเฟ้นหาคัดเลือกช่างตัดเย็บผู้มีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ นำผืนผ้าที่เป็นผลความสำเร็จจากพระดำริมาออกแบบตัดเย็บให้เข้ากับคนทุกช่วงวัย สอดคล้องกับแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” จึงเป็นที่มาของกิจกรรมในวันนี้

นายวรงค์ กล่าวว่า กิจกรรมการประกวดการออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” ระดับภาคเหนือ จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการออกแบบตัดเย็บและการผลิตชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก จากกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย ตลอดจนนักออกแบบและตัดเย็บชุดผ้าไทยจากทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางด้านการตลาดและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย นักออกแบบและตัดเย็บชุดผ้าไทย และประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการใช้และการสวมใส่ผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ร่วมกิจกรรมทั้ง 20 ทีมในวันนี้ คือผู้ที่ผ่านการประกวดจากรอบคัดเลือก 59 ทีมโดยเป็นทีมจากจังหวัดต่างๆ ได้แก่ 1.เชียงใหม่ 4 ทีม 2.เชียงราย 1 ทีม 3.ลำปาง 1 ทีม 4.พะเยา2 ทีม  5.ตาก 1 ทีม 6.ลำพูน 1 ทีม 7.น่าน 5 ทีม 8.แพร่ 1 ทีม 9.นครสวรรค์ 2 ทีม 10.พิจิตร 1 ทีมและ 11.อุตรดิตถ์ 1 ทีม

“ขอเป็นกำลังใจให้ผู้เข้าประกวดที่ผ่านเข้ารอบและมานำเสนอผลงานในครั้งนี้ นับว่าทุกท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่สามารถผ่านการประกวดรอบคัดเลือกซึ่งมีผู้สมัครเป็นจำนวนมาก และคาดหวังว่าทุกท่านที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้จะมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเป็นนักออกแบบตัดเย็บหรือดีไซเนอร์ที่ดี มีผลงานที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน” นายวรงค์ กล่าว

ดร.กรกลด กล่าวว่า การประกวดการออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” ระดับภาคเหนือในวันนี้ ผู้ประกวดจะต้องนำเสนอผลงานภาพสเก็ต พร้อมสตอรี่บอร์ดหรือมู้ดบอร์ด (Mood board) ของชุดที่จะออกแบบตัดเย็บ จำนวน 3 ชุด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 นาที ลำดับการเข้านำเสนอผลงานจะเรียงตามลำดับการลงทะเบียน โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาตัดสินคะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งเป็น 1. แนวคิดและแรงบันดาลใจในการออกแบบ 30 คะแนน 2. ความคิดสร้างสรรค์ 40 คะแนน 3. ความสวยงาม และความสมบูรณ์แบบของชุด 30 คะแนน ซึ่งคณะกรรมการตัดสิน จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบระดับประเทศ จำนวน 10 ทีม โดยไม่เรียงลำดับคะแนน เพื่อเข้าร่วมการประกวดระดับประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ต่อไป.