ทั้งนี้ ปริมาณข้าวส่วนที่ขาดระหว่างปี 2565-2566 จะอยู่ที่ประมาณ 8.7 ล้านตัน ตามการวิเคราะห์ของฟิตช์ โซลูชันส์ ซึ่งจะเป็นสถิติสูงสุด นับตั้งแต่ภาวะการขาดแคลนข้าว 18.6 ล้านตันบนโลก ระหว่างปี 2546-2547

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้โลกเผชิญกับภาวะขาดแคลนข้าวในครั้งนี้ รวมถึงการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 1 ปี และความแปรปรวนของสภาพอากาศโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวในบรรดาประเทศที่ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐ ระบุว่า ปากีสถานซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดข้าวโลก 7.6% มีผลผลิตเมื่อปีที่แล้วลดลง 31% เมื่อเทียบแบบปีต่อปี นอกจากนี้ มีงานวิจัยด้วยว่า ข้าว คือ หนึ่งในพืชเศรษฐกิจ ซึ่งจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ก่อตัวแล้วในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

อินเดีย ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยการครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 40% หรือ 55.4 ล้านตัน เมื่อปีที่แล้ว ประกาศเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ระงับการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดภายในประเทศ แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่อินเดียประกาศระงับส่งออกข้าว อย่างไรก็ตาม การประกาศมาตรการครั้งนี้เกิดขึ้นไม่นาน ต่อจากการระงับส่งออกข้าวนาน 3 เดือน ซึ่งบังคับใช้ระหว่างเดือนก.ย.-พ.ย. ปีที่แล้ว

ขณะที่เวียดนามซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดียและไทย ประกาศแผนยุทธศาสตร์การส่งออกข้าว ที่เป็นการกำหนดเป้าหมายลดการส่งออกข้าวเหลือปีละ 4 ล้านตัน ภายในปี 2573 หรือลดลง 44% เมื่อเทียบกับสถิติการส่งออกเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 7.1 ล้านตัน โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อส่งเสริมการส่งออกข้าวที่มีคุณภาพ เพื่อรักษาอุปสงค์ของตลาดในประเทศ และเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการปรับตัวตามภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก”

ทุ่งนาขั้นบันได ที่อ.มู่กางจ๋าย ในจ.เอียนบ๊าย ทางตอนเหนือของเวียดนาม

นอกจากนั้น รายงานของกระทรวงเกษตรเวียดนามระบุด้วยว่า นับจากนี้จะเพิ่มการกระจายตลาด เพื่อลดการพึ่งพิงประเทศเดียวให้เป็นผู้รับซื้อ อนึ่ง ฟิลิปปินส์เป็นผู้รับซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามมานานแล้ว และสถิติการส่งออกข้าวจากเวียดนามไปยังฟิลิปปินส์ มีสัดส่วนสูงถึง 45% เมื่อปีที่แล้ว

เวียดนามจะยังคงเน้นการขายข้าวในตลาดเอเชียเป็นหลัก ตามด้วยแอฟริกา ภูมิภาคอเมริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป ส่วนสถิติการส่งออกข้าวของเวียดนามตลอด 7 เดือนแรกของปีนี้ หรือระหว่างเดือนม.ค.-ก.ค. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 4.89 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ทั้งนี้ มีการคำนวณอย่างละเอียดแล้วว่า ผลผลิตข้าวของเวียดนามในปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 28 ล้านตัน และ 20 ล้านตันน่าจะเพียงพอแก่การบริโภคของประชาชนในประเทศ หมายความว่า เวียดนามจะมีข้าวเพียงพอสำหรับการส่งออกราว 7-8 ล้านตัน ในปีนี้ ซึ่งจะเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นราว 12% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ทว่าสถานการณ์มีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้นอีก เมื่อจีนซึ่งถือเป็นประเทศมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก เผชิญกับอิทธิพลของไต้ฝุ่น “ทกซูรี” ส่งผลให้ภูมิภาคตอนบนของประเทศ ประสบกับอุทกภัยระดับรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

ขณะที่ภูมิภาคซึ่งเป็นบริเวณเพาะปลูกธัญพืชที่สำคัญของจีน โดยเฉพาะมณฑลจี๋หลิน มณฑลเฮย์หลงเจียง และเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ซึ่งมีผลผลิตข้าวรวมกันคิดเป็น 23% ของผลผลิตทั้งประเทศ ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งนี้อย่างมาก และแน่นอนว่า การที่ผลผลิตภายในประเทศลดลง จีนจะต้องนำเข้าข้าวมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอีก

ตลาดกลางข้าวเปลือก ที่เมืองอัมริตสาร์ ในรัฐปัญจาบ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย

ทั้งนี้ รายงานโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ( เอฟเอโอ ) ระบุว่า ราคาข้าวในตลาดโลก กำลังอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 12 ปี โดยปัจจัยสำคัญที่นอกเหนือจากคำสั่งระงับส่งออกข้าวครั้งใหม่ของอินเดีย คือการที่ทางการไทย ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลก ขอให้ชาวนาปลูกข้าวน้อยลงในฤดูกาลนี้ เพื่อประหยัดน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ต่ำ ซึ่งเป็นผลพวงของปรากฏการณ์เอลนีโญ

ปัจจุบัน 90% ของผลผลิตข้าวบนโลก มาจากทวีปเอเชีย ทว่าตอนนี้พื้นที่ปลูกข้าวแทบทั้งหมดในภูมิภาคแห่งนี้ มีความเสี่ยงอย่างมากต่อปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะมีระยะเวลาครอบคลุมระหว่าง 9-12 เดือน และช่วเวลารุนแรงที่สุด คือระหว่างเดือนธ.ค. จนถึงก.พ. ที่สำหรับอินเดียถือเป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวข้าวพอดี

แม้ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งนี้จะรุนแรง และยาวนานดังที่มีการวิเคราะห์ไว้มากน้อยเพียงใด แต่ความตึงตัวอย่างต่อเนื่องที่กำลังเกิดขึ้นกับอุปทานข้าวโลก คือสัญญาณบอกเหตุได้เป็นอย่างดี.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP