ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจากเรื่องของ มาตรฐานตัว G (Governance…ธรรมาภิบาล) ใน ESG นั่นเอง ซึ่งการดำเนินธุรกิจด้วยการยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างเข้มข้น เป็นธรรม และสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างโปร่งใส จะช่วยลดปัญหานี้ลงได้มาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมักเป็นการร่วมมือกันแบบลับ ๆ ระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่เป็น PPP ด้านมืด ซึ่งไม่สามารถทำการแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ และเรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรังในระบบราชการมาช้านาน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหา ต่างคนก็ต่างชี้นิ้วไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วให้กฎหมายเป็นผู้ตัดสิน แต่ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นนั้นตกเป็นของผู้บริโภคแล้ว

แล้วเราจะเติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้องได้อย่างไร? เพื่อไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ซึ่งก็อาจจะทำได้ด้วยแนวทางเหล่านี้ คือ เรื่องแรก ที่มาของที่ดิน ที่จะต้องถูกต้องตามกฎหมาย มีการซื้อขายจ่ายภาษีถูกต้อง ซึ่งบริษัทใดเริ่มจากใต้โต๊ะ ก็ย่อมจะมีผลตามมา หรือการหาที่ดินที่ราคาถูกผิดปกติ เช่น ที่ดินธรณีสงฆ์ ที่ดินตาบอด ที่ดินที่ไม่ถูกต้องตามโซนนิ่ง หรือที่ดินที่มีกรณีพิพาทนั้น ย่อมสร้างปัญหาตามมามากมาย และเรื่องต่อไปคือ ขั้นตอนขอใบอนุญาตต้องถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องทำอย่างถูกต้อง โปร่งใส ไร้น้ำยาหล่อลื่น ไร้ซองขนม รวมถึงขั้นตอนการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ก็ต้องจัดทำอย่างมีมาตรฐาน และมีการจัดเวทีรับฟังทุกเสียงของผู้มีส่วนได้เสียที่รอบด้าน เพื่อนำมาพิจารณาหาวิธีที่เหมาะสมในการออกแบบโครงการ ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาที่เป็นผู้ทำ EIA และ EHIA เองก็ต้องโปร่งใส เป็นกลาง และไม่เอาใจเจ้าของโครงการจนออกนอกหน้า โดยปัญหาเหล่านี้ถือเป็นอีกปัญหาที่ถูกซุกไว้

ขณะที่มาตรฐานที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมควรที่ต้องมีนั้น ประกอบด้วย 1.มาตรฐานตามกฎหมาย ที่ต้องดูให้ครบว่ามีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับโครงการ และต้องทำทุกเรื่องให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยอย่าเลี่ยงบาลี อย่าหมกเม็ด อย่าจ่ายเงินใต้โต๊ะ 2.มาตรฐานตามวิชาชีพและมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งจะสูงกว่ามาตรฐานตามกฎหมาย เช่น มาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานวิศวกรรม มาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมตาม ISO 3.มาตรฐานความเป็นเลิศในระดับสากล ซึ่งเป็นมาตรฐานโลก เช่น มาตรฐานอาคารเขียว มาตรฐานการควบคุมพลังงานกับของเสีย (BCG/Net Zero) มาตรฐานตามเป้าหมายความยั่งยืน SDG 17 ข้อ และนี่เป็นเพียงการติดกระดุมเม็ดแรกของการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ทำได้ก็ถือว่าเก่งแล้ว.

CSR Man