เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2566 สมาคมเคมีแห่งสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ข่าวแก่สื่อมวลชน มีเนื้อหาระบุว่า ทีมแพทย์พบชิ้นส่วนไมโครพลาสติกในหัวใจของผู้ป่วยระหว่างผ่าตัด โดยสถานการณ์ปัจจุบันในสหรัฐนั้น เรียกได้ว่าตรวจพบไมโครพลาสติกแทบจะในทุกที่ ตั้งแต่แหล่งน้ำ ในอากาศ ไปจนถึงอาหาร และล่าสุดคือพบในอวัยวะของมนุษย์

ก่อนหน้านี้ ทีมนักวิจัยนานาชาติได้เริ่มโครงการทดลองศึกษาโดยเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากผู้ป่วย 15 คน ที่เข้ารับการผ่าตัดหัวใจ และเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยราวครึ่งหนึ่งของกลุ่มนี้ ทั้งในระหว่างการผ่าตัดและหลังการผ่าตัด

ผลการค้นพบเบื้องต้นของทีมได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยระบุว่า “ค้นพบชิ้นส่วนไมโครพลาสติก โดยไม่ได้คาดหมายในระหว่างกระบวนการศึกษา”

ไมโครพลาสติกคืออนุภาคพลาสติกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ถึง 5 มม. ส่วนหนึ่งเกิดจากการแตกหักหรือย่อยสลายของพลาสติกชิ้นใหญ่ และกำลังกลายเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพบการปนเปื้อนในวงกว้าง ทั้งในดิน น้ำ อากาศ และอาหาร

ทีมวิจัยใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพอินฟราเรดด้วยแสงเลเซอร์ และพบว่ามีชิ้นส่วนไมโครพลาสติกหลายหมื่นชิ้น ในตัวอย่างเนื้อเยื่อส่วนใหญ่ แต่มีจำนวนมาก-น้อยแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน

ทีมวิจัยพบพลาสติก 8 ประเภทในเนื้อเยื่อตัวอย่าง ในกลุ่มนี้มีพลาสติกโพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต ซึ่งปกติแล้วจะพบในเสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยผ้าโพลีเอสเตอร์ นอกจากนี้ ยังมีชิ้นส่วนของพลาสติกโพลีไวนิลคลอไรด์ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า พีวีซี

สำหรับตัวอย่างเลือดที่เก็บจากผู้ป่วยทุกราย ก็พบไมโครพลาสติกหลายประเภทเช่นกัน แต่น่าแปลกใจตรงที่ว่า หลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้น ขนาดของชิ้นส่วนเหล่านี้ในตัวอย่างเลือดกลับลดลง

แม้จะเป็นการศึกษาเบื้องต้น แต่ก็แสดงให้เห็นว่าการค้นพบไมโครพลาสติกในอวัยวะมนุษย์ เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ในกระบวนการรักษาด้วยการผ่าตัด ที่มีการใช้อุปกรณ์รุกล้ำเข้าไปในร่างกายและอวัยวะภายในของผู้ป่วย ซึ่งอาจกลายเป็นการเปิดโอกาสให้อวัยวะภายในเหล่านี้ สัมผัสกับไมโครพลาสติกได้โดยตรง รวมถึงปนเปื้อนเข้าไปในกระแสเลือดได้

ทีมวิจัยชี้ว่า ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมและขยายขอบเขตการศึกษาออกไป เพื่อค้นหาคำตอบว่า ปัญหาไมโครพลาสติกที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเบื้องต้นเหล่านี้ ก็เป็นหลักฐานชัดเจนว่า นี่คือปัญหาที่ไม่อาจละเลยได้ และต้องค้นคว้าหาข้อมูลต่อไป

ที่มา : futurism.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES