การสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้ามีวิธีสร้างสรรค์ได้หลากหลายรูปแบบ นอกจากการปัก การทอ การเขียนลายหรือมัดย้อม การพิมพ์ผ้าจากสีธรรมชาติ Eco print เป็นอีกเทคนิควิธี สร้างเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม …

“Eco print” กระบวนการพิมพ์สร้างลวดลายจากวัสดุธรรมชาติ จากเทคนิคดังกล่าวชวนค้นเรื่องน่ารู้การพิมพ์ผ้า ถอดรหัสใบไม้ให้สี ทั้งพาค้นไอเดียการสร้างอัตลักษณ์มูลค่าเพิ่มจากบัว โดย ผศ.กรณัท สุขสวัสดิ์ ผศ.อุไรวรรณ คำสิงหา และอาจารย์วราภรณ์ นาคะศิริ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีให้ความรู้ว่า Eco print เป็นการสร้างลวดลายให้เกิดขึ้นบนผ้าโดยใช้วิธีธรรมชาติ ถ่ายความงามธรรมชาติฝากไว้บนผืนผ้า โดยลวดลายผ้าเกิดขึ้นจากความร้อนในขณะนึ่งผ้า

ในกระบวนการพิมพ์ผ้าก่อนจะเกิดลวดลายสวยมีวิธีการมีรายละเอียด และสูตรเฉพาะที่มีความต่างกัน ดังเช่น ผ้าที่เตรียมนำไปพิมพ์จะต้องนำไปซักนํ้า ซักด้วยสบู่ แช่สารส้มหรือส่วนผสมต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้ ก่อนจะนำใบไม้ ดอกไม้ ฯลฯ ที่ต้องการให้เกิดสีสัน ลวดลายไปจัดวาง จากนั้นนำไปนึ่งโดยขั้นตอนการนึ่งแต่ละชิ้นงาน ใช้ระยะเวลา ฯลฯ

อาจารย์จากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ อธิบายเพิ่มอีกว่า การสร้างลวดลายบนผืนผ้าทำได้หลายรูปแบบ จากที่กล่าวที่มีทั้งการมัดย้อม การพิมพ์ลาย การเขียนเทียน ฯลฯ ใช้สีเคมีและสีธรรมชาติซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้สร้างสรรค์ สำหรับสีธรรมชาติจากวัสดุธรรมชาติ นำมาใช้ได้ทั้งงานย้อมและงานพิมพ์ผ้าโดยสามารถผสมผสานสร้างเอกลักษณ์ให้กับผืนผ้าได้อย่างลงตัวและมีมนต์เสน่ห์ อย่างเช่น Eco print ทำได้ทั้งสองแบบ ทั้งแบบที่ใช้ใบไม้นำมาพิมพ์บนผืนผ้าขาว และอีกวิธีหนึ่งคือ การห่มสี

“การห่มสีวิธีการนี้จะดีไซน์จัดวางใบไม้ ดอกไม้ลงบนผืนผ้าเช่นกัน จากนั้นจะนำผ้าอีกผืนที่ชุบนํ้าสีธรรมชาติอาทิสีจากบัว จากแก่นขนุน แก่นฝาง ฯลฯ นำมาประกบแล้วม้วนไปด้วยกัน จากนั้นนำไปนึ่ง โดยสีและลวดลายที่ได้จะคมชัด และผืนผ้ามีสีสัน 

ขณะที่การพิมพ์ผ้าโดยไม่ห่มสีจะได้ลวดลายจากใบไม้ ดอกไม้ตามที่จัดวาง

Eco print ที่ผ่านมาแม้จะเป็นที่รู้จักมานาน แต่ในช่วงสองสามปีมานี้จะเห็นงานลักษณะนี้เด่นชัด ทั้งมีสูตรเฉพาะของผู้สร้างสรรค์ มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น”

อาจารย์จากคณะเทคโนโลยีคหกรรม ศาสตร์ อธิบายอีกว่า สำหรับวัสดุหลัก ใบไม้ สามารถนำมาใช้ได้หลากหลาย ใช้ได้แทบทุก    ชนิดพืช จะมีบ้างบางชนิดที่ไม่เหมาะกับการนำมาพิมพ์และไม่ให้สี อย่างเช่น ใบไม้ที่มียาง ใบเป็นวุ้น ฯลฯ โดยก่อนนำมาย้อมผ้าหรือนำไปพิมพ์ผ้าจะนำไปทดลองก่อนเพื่อให้ได้ข้อมูลสีที่แท้จริง โดยจะนำใบไม้สด หรือวัสดุให้สีธรรมชาตินำไปต้มเคี่ยวจนงวดโดยทุกขั้นตอนใช้ระยะเวลา จากนั้นจึงนำมาทดลองย้อม อย่างเช่น ใบมะม่วง ใบขนุน ใบย่านางใบหูกวาง สะเดา กาบมะพร้าว เปลือกหอมใหญ่ หอมแดง ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพืชให้สีสันสวย 

“พืชแต่ละชนิดให้สีสันต่างกัน ใบไม้ส่วนใหญ่จะให้สีเขียว โทนเขียวขี้ม้า ให้สีเหลืองนํ้าตาล แต่ก็จะมีบางใบ บางชนิดอย่างเช่น หูกวาง ให้สีโทนเหลือง หรือแม้แต่ ดอกไม้ ดอกดาวเรืองก็ให้สีเหลือง เช่นเดียวกับขมิ้นชัน ให้สีเหลือง ขณะที่ ฝาง ให้สีแดง ชมพู หรือใบไม้บางชนิดให้ในชนิดเดียวกันให้สีสองสี อย่างเช่น ใบมะม่วง ใบสดให้สีเขียว ส่วนใบแก่ที่หล่นร่วง ให้สีนํ้าตาล ฯลฯ”

อีกทั้ง วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลายชนิด ก็ให้สีสันสวยงาม นำมาสกัดเป็นสีย้อมผ้า นำมาใช้พิมพ์ผ้าได้เช่นกัน อย่างเช่น กากชาให้สีโทนส้ม กากกาแฟให้สีนํ้าตาล เปลือกมะพร้าวสด ให้สีนํ้าตาลออกไปในโทนอ่อน ขณะที่เปลือกมะพร้าวแห้งให้สีนํ้าตาลอีกเฉดสี นำมาใช้ได้ทั้งเปลือกสดและแห้ง ฯลฯ ทั้งนี้ในภาพรวมของสีจากธรรมชาติจะไม่สดสว่าง แต่จะละมุนสบายตา อีกทั้งสามารถผสมสีระหว่างกันเพื่อเพิ่มความเข้มของสี อย่างเช่น ดอกบัวและฝาง นำมาผสมกันจะได้สีชมพูที่เข้มข้นขึ้น เป็นต้น

อาจารย์จากสาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งสามท่านอธิบายเพิ่มอีกว่า นอกจากใบไม้ กิ่งก้าน ดอกไม้ก็นำมาก็ใช้ในงาน Eco print ได้เช่นกัน แต่ดังที่กล่าวต้องทดลองก่อนนำมาใช้ อย่างเช่นเปลือกหอม ก่อนนำมาใช้จะแช่นํ้าโดยเปลือกหอมใหญ่ให้สีโทนส้ม ขณะที่หอมแดง ให้สีชมพู แต่อย่างไรแล้วก็จะมีสารช่วยติดสี อย่างเช่น  เกลือ สารส้ม นำมาเป็นตัวช่วยผนึกสีให้อยู่ในเส้นใยได้ยาวนาน ทั้งนี้ในเรื่องของการย้อมสีธรรมชาติ การพิมพ์ผ้าสร้างลวดลายจากธรรมชาติ ที่ผ่านมาเราได้นำความรู้เผยแพร่ ถ่ายทอดเทคโนโลยีบริการวิชาการแก่ชุมชน

ผศ.อุไรวรรณ อ.วราภรณ์และ ผศ.กรณัท

อย่างเช่น การสร้างอัตลักษณ์และมูลค่าเพิ่มจากบัว เพื่อการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ จากโครงการนี้นำองค์ความรู้ถ่ายทอดให้กับชุมชนนับแต่ต้นนํ้า กลางนํ้าและปลายนํ้าให้ความรู้การวางลาย การทำผืนผ้า ต่อเนื่องถึงการแปรูป ออกแบบให้ผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างจากที่มี โดยการนำงานปักไหม นำมาเพิ่มมูลค่าให้กับงานEco print หรืองานพิมพ์ผ้า โดยที่ผ่านมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ไว้หลากหลาย อาทิ ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า หมวก กระเป๋า โคมไฟ ปลอกหมอน ผ้าคลุมไหล่ ตุ๊กตา กรอบรูป ฯลฯ

การพิมพ์สีธรรมชาติจากบัวครั้งนี้ จากที่กล่าว นำการปักผ้า นำมาเพิ่มความโดดเด่น สร้างลวดลายเอกลักษณ์ เพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับผ้าพิมพ์และผลิตภัณฑ์ ผศ.กรณัท อธิบายเพิ่มอีกว่า การปักทำให้เกิดเทคเจอร์ เกิดมิติที่แตกต่างจากพิมพ์ผ้าทั่วไป
ใช้การปักไหมและวิธีการปักหลายรูปแบบ
จะเห็นได้จาก ปลอกหมอน นอกจากความโดดเด่นการวางลาย ใบบัวจะอยู่บริเวณกึ่งกลางหมอนทุกใบ ขณะเดียวกันใช้การปัก เน้นรายละเอียด ลวดลายบัวหลวงที่มีเอกลักษณ์ให้เด่นชัดขึ้น เช่นเดียวกับ โคมไฟ กระเป๋าและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

ใบไม้ ดอกไม้หลายชนิดแม้จะนำมาใช้พิมพ์ผ้าสร้างลวดลาย สร้างเอกลักษณ์ให้ผืนผ้า แต่การจัดวางองค์ประกอบก่อนการพิมพ์ เป็นอีกส่วนสำคัญ โดยหากแนะนำเบื้องต้นอย่างเช่น ใบบัว หากมีแต่ใบบัวเพียงอย่างเดียวอาจขาดจุดเด่นไป เลือกใบบัวที่มีลวดลายชัดเจน สมบูรณ์นำมาวางเป็นใบหลัก จากนั้นเสริมด้วยใบไม้ที่มีรูปทรง สีสันสวยหรือขนาดที่แตกต่างกันนำมาจัดวางก็ทำให้มีมิติขึ้น เช่นเดียวกับใบไม้อื่น ๆ  

“ใบไม้บางชนิดรูปทรงสวย แต่ไม่ให้สี ให้แต่โครงสร้าง ลายเส้นชัดเจน อย่างเช่น ใบไผ่ ก็อาจเลือกนำมาใช้ จัดวาง นำมาออกแบบสร้างลวดลายผ้า หรืออย่าง ใบเพกา เมื่อนำมาพิมพ์จะให้สีม่วงนํ้าตาลเด่น ขณะที่ ใบบัว ให้รายละเอียดของเส้นใบลวดลายชัดเจน หรือแม้แต่ ใบยูคาลิปตัส นอกจากให้สีสันสวย ยังมีสารช่วยติดสีช่วยให้ผืนผ้าสมบูรณ์ทั้งเรื่องสีและลวดลายยิ่งขึ้น และ ด้วยที่เป็นวัสดุธรรมชาติ ใช้ดอกไม้ใบไม้จริงนำมาพิมพ์ Eco print จึงมีความเป็นธรรมชาติ ถ่ายทอดความงามของธรรมชาติสู่ผืนผ้าได้อย่างน่าสนใจ”  

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ผศ.กรณัท อธิบายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์สีธรรมชาติจากบัวทิ้งท้ายอีกว่า การนำสีธรรมชาติจากบัวนำมาใช้สร้างสรรค์ผลงานผ้าพิมพ์ยังเป็นการสร้างนวัตกรรม สร้างผลงานใหม่ ๆ โดยใช้ประโยชน์จากพืชในท้องถิ่น และนอกจากใบบัวที่นำมาใช้พิมพ์ผ้าสร้างลวดลาย ยังศึกษา ในส่วนดอกบัว นำมาทด ลองสกัดสีย้อมผ้า ทั้งนี้บัวมีหลายพันธุ์ และทั้งบัวหลวง บัวสายฯลฯ ก็ได้นำมาทดลองศึกษาโดยพบว่า ดอกบัวหลวง ให้สีชมพูอ่อนจึงนำฝางมาผสม ทำให้สีชมพูมีความเข้มขึ้น ขณะเดียวกันต่อ ยอดนำสีจากดอกบัวสาย นำมาทำมัดย้อม สร้างสีสันลวดลาย เพิ่มความหลากหลายให้กับผืนผ้า เป็นอีกส่วนหนึ่งบอกเล่าการพิมพ์ผ้า Eco print  สร้างลวดลายเอกลักษณ์บนผืนผ้า สร้างจากวัสดุธรรมชาติ ใบไม้ดอกไม้ในท้องถิ่น

นำมาใช้ประโยชน์ สร้างผลิตภัณฑ์สิ่งทอธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ