นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าภารกิจขุดลอกพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ พื้นที่แม่น้ำภาชี อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี, แม่น้ำจาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, คลองเสลี่ยงแห้ง อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ และแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เพื่อบูรณาการเตรียมความพร้อมในเชิงป้องกันเพื่อรับสถานการณ์ช่วงฤดูฝน สอดคล้องกับความต้องการในการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตร และการรักษาสภาพแวดล้อมทางน้ำ ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ดังนี้ 

1.สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ โดยสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 1 ปฏิบัติงาน ขุดลอกแม่น้ำภาชี ต.จระเข้เผือก อ.ด่านมะขามเตี้ย โดยใช้รถขุด อย.3 และเรือเจ้าท่า ข.407 เป็นเครื่องจักรในการปฏิบัติงาน ขุดลอกเพิ่มความกว้างก้นร่องน้ำตามแผนขุดลอก 5-40 เมตร จุดเริ่มต้นการขุดลอกจาก กม.ที่ 3+800 ถึง กม.ที่ 4+350 ระยะทางประมาณ 550 เมตร ระดับความลึกที่ก้นร่องน้ำตามแผนขุดลอก +24 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) หรือ 2-4 เมตร จากระดับดินเดิมปริมาณวัสดุขุดลอกจำนวน 46,000 ลูกบาศก์เมตร ใช้เวลาในการปฏิบัติงาน 100 วัน ปัจจุบัน ขุดลอกได้ 115 เมตร มีปริมาณวัสดุขุดลอก 9,500 ลูกบาศก์เมตร ช่วยแก้ไขปัญหาร่องน้ำตื้นเขิน การกัดเซาะตลิ่ง และระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก 

2.สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ โดยสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 ปฏิบัติงานขุดลอกแม่น้ำจาง ต.นาสัก อ.แม่เมาะ โดยรถขุด ชม.14 ขุดลอก “ช่วงที่ 1” ตั้งแต่ กม.ที่ 91+050 ถึง กม.ที่ 91+850 ขุดลอกระดับก้นร่องลึกประมาณ 269.00-270.50 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) “ช่วงที่ 2” ตั้งแต่ กม.ที่ 88+350 ถึง กม.ที่ 89+660 ขุดลอกระดับก้นร่องลึกประมาณ 266.50-267.00 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) “ช่วงที่ 3” ตั้งแต่ กม.ที่ 80+200 ถึง 81+กม.ที่ 200 ขุดลอกระดับก้นร่องลึกประมาณ 252.00-253.50 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ระยะทางรวม 3,050 เมตร ขุดลอกร่องน้ำให้ได้ความกว้าง 15 เมตร ปริมาณวัสดุขุดลอก 55,000 ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาดำเนินการ 100 วัน ปัจจุบันขุดลอกได้ 22.11% 

นายวิทยา กล่าวต่อว่า 3.สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 2 ปฏิบัติงานขุดลอก คลองเสลี่ยงแห้ง ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ ใช้รถขุด นว.4 และเครื่องจักรเสริม เป็นเครื่องจักรปฏิบัติงาน ขุดลอกขนาดความกว้างก้นร่องน้ำ 2-40 เมตร ความยาว 1,850 เมตร และระดับความลึกก้นร่องน้ำตามแผนขุดลอก 724 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ปริมาณเนื้อดิน 50,161 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันดำเนินการได้ 9,180 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 18.36 %

และหน่วยขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยา ต.พยุหะ ต.น้ำทรง อ.พยุหะคีรี ใช้เรือเจ้าท่า ข.33 เรือเจ้าท่า 233 เป็นเครื่องจักรปฏิบัติงาน ขุดลอกร่องน้ำ ความกว้างที่ก้นร่องน้ำตามแผนการขุดลอก 40 เมตร ยาว 1,550 เมตร ระดับที่ก้นร่องน้ำตามแผนการขุดลอก 6 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ปริมาณวัสดุขุดลอก 250,058 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันดำเนินการได้241,637 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 96.65% 

ทั้งนี้ได้กำชับหน่วยปฏิบัติงานขุดลอก ให้เร่งภารกิจขุดลอกให้แล้วเสร็จตามแผนงาน เพื่อช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งให้กับชุมชนต่าง ๆ พร้อมนำวัสดุที่ได้จากการขุดลอกปรับแต่งเสริมบริเวณพื้นที่กัดเซาะโดยใช้เครื่องจักร ขุดยกระดับกองดินขึ้นเพื่อรักษาแนวตลิ่งให้คืนสู่สภาพเดิม เกิดประโยชน์กับประชาชน ได้มีแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค และพื้นที่ทางการเกษตรอีกนับพันไร่ พร้อมกันนี้ได้ร่วมรณรงค์กับหน่วยงานในพื้นที่ปล่อยพันธุ์ปลาท้องถิ่น จัดกิจกรรมปลูกพืชผัก สวนครัว สร้างรายได้ ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เสริมสร้างความสามัคคีให้กับชุมชนได้อีกด้วย