นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และฝ่ายการเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ร่วมกับสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย ในการเป็นเจ้าภาพจัดแสดงสินค้าเกษตรไทย ณ สวนไทย ในงานมหกรรมพืชสวนโลก 2021 เมืองหยางโจว มณฑลเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรไทย ให้ผู้เข้าชมงานทั้งชาวจีนและชาวต่างประเทศได้เห็นถึงศักยภาพและความหลากหลาย ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเกษตรไทย ขยายโอกาสทางการค้าและการตลาด ให้สินค้าเกษตรไทยเป็นที่รู้จักในเมืองหยางโจว

นอกจากนำผลไม้จากประเทศไทย 8 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย เงาะ น้อยหน่า ชมพู่ มะม่วง และมะพร้าวเผา ไปจัดแสดงและแนะนำให้ชาวจีนได้รู้จัก ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวจีนที่มาเที่ยวในงานพืชสวนโลกเป็นอย่างมากแล้ว ยังได้จัดนิทรรศการแบบสามมิติ โดยมีบอลลูนยักษ์ทุเรียนและมังคุดขนาดสูง 3 เมตร และบอลลูนขนาดกลางรูปทรงผลไม้หลายชนิด รวมทั้งบอร์ดรูปผลไม้ไทย บอร์ดนิทรรศการแสดงข้อมูลให้ความรู้เกี่ยวกับผลไม้ไทย 22 ชนิด ที่จีนอนุญาตให้ไทยนำเข้า อีกทั้งยังมีการตกแต่งซุ้มกล้วยไม้ไทยขนาดใหญ่ โดยใช้กล้วยไม้นำเข้าจากประเทศไทยหลากหลายสี ซึ่งเป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

นางกุลฤดี เปิดเผยอีกว่า จากการสำรวจตลาดผลไม้ไทยในเมืองหยางโจว พบว่า ในร้านผลไม้ท้องถิ่น และซุปเปอร์มาร์เกตท้องถิ่นบางแห่งมีผลไม้ไทยจำหน่าย เช่น ทุเรียน ราคา 23 – 26 หยวนต่อ 500 กรัม ซึ่งทุเรียนที่จำหน่ายอยู่ในระดับสุกมากจนเปลือกปริแตก แต่คนจีนก็มีความคุ้นเคยและชอบทานทุเรียนที่เนื้อเละกลิ่นแรง แม้ว่าทุเรียนเปลือกปริแตกก็ยังวางจำหน่ายได้เป็นปกติ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีมังคุดและมะพร้าวไทยจำหน่ายอีกด้วย และผลไม้ไทยก็ยังมีราคาสูงกว่าผลไม้ท้องถิ่น

“การจัดประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรไทยครั้งนี้ ทำให้ทราบถึงแนวโน้มของตลาดผลไม้ไทยในเมืองรองซึ่งถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะทุเรียน คนในพื้นที่รู้จักและชื่นชอบทุเรียนของไทยเป็นอย่างมาก แต่ตลาดผลไม้ในประเทศจีนยังมีการแข่งขันที่รุนแรง ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนรุ่นใหม่ที่ได้ปรับเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์ ในขณะที่ชาวจีนในเมืองรองบางส่วนยังมีพฤติกรรมในการออกไปจับจ่ายซื้อของที่ร้านค้าอยู่ เนื่องจากสามารถเลือกสินค้าได้ด้วยตนเอง แต่ประเด็นเรื่องราคาสินค้าซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคท้องถิ่นมักคำนึงถึงเวลาตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ซึ่งผลไม้ไทยมักจะมีราคาสูงกว่าของคู่แข่ง อาจจะทำให้แข่งขันในตลาดท้องถิ่นของจีนได้ยาก จึงต้องมีการนำประเด็นที่นี้ไปพิจารณาหาแนวทางแก้ไขต่อไป”นางกุลฤดี กล่าวทิ้งท้าย