ทั้งนี้ กรณี “วาทกรรม” นั้นไม่ว่าแวดวงใดก็มักมีออกมาเรื่อย ๆ ตามสถานการณ์-ตามยุคสมัย อย่างไรก็ตาม กับแวดวงการเมือง โดยเฉพาะในช่วงรวบรวมเสียงเพื่อจะจัดตั้งรัฐบาล นอกจากวาทกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ฟังดูดีแล้ว คำว่า “มิตร” หรือ “เพื่อน” ก็มักปรากฏให้ได้ยินกันบ่อย ๆ… อย่างในการแถลงของบางพรรคเมื่อวันก่อนก็ได้ยินได้ฟังกันทั้งประเทศ ทั้งคำว่า “เพื่อน” และคำว่า “มิตร” คือรวมเป็นคำว่า “เพื่อนมิตร” 

“เพื่อน”…คำนี้ “ก็ถูกใช้ทางการเมือง”

ขณะที่ “ในเชิงศาสตร์ได้ศึกษาเพื่อน”

และมีกรณี “ราคา-มูลค่า” ที่ “น่าคิด??”

ทั้งนี้ วันนี้ทาง“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มชวนดูกันเน้น ๆ อีกครั้งกับกรณี“เพื่อนในมุมเศรษฐศาสตร์” ที่ก็ อาจสะท้อนการ “เลิกคบเพื่อนเก่า” หรือการ “เลือกคบเพื่อนใหม่” ใน “แวดวงการเมือง” ได้ด้วย?? โดย ณ ที่นี้จะพลิกแฟ้มสะท้อนย้ำข้อมูลเรื่องนี้มุมนี้จากข้อมูลบทความ “เรามีเพื่อนได้มากที่สุดกี่คน?” ที่เผยแพร่ไว้ใน เว็บไซต์ setthasat.com ซึ่งโดยสังเขปนั้นมีว่า… ในทางเศรษฐศาสตร์ได้มีการศึกษามูลค่าและจำนวนของ “เพื่อน” โดยนำหลักทฤษฎีชื่อว่า “Dunbar’s Number” มาใช้อธิบาย ซึ่งทฤษฎีนี้เป็นวิธี “คำนวณ” จำนวนเพื่อนที่สมองส่วนหน้าของมนุษย์จะสามารถจำรายละเอียดได้ ที่พบว่า มนุษย์ 1 คน จะมีเพื่อนได้มากสุด 150 คน และมีการวิเคราะห์ “ผลได้” กับ “ต้นทุน” ในการรวมกลุ่มเพื่อนด้วย

ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวยังระบุถึงความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relationships) หรือ “การคบเพื่อน” ไว้ว่า… นี่ก็เป็นหัวข้อที่มีการศึกษามาเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจาก ความสัมพันธ์เป็นองค์ประกอบพื้นฐาน “การแลกเปลี่ยน” และ “การเกี่ยวข้องกัน” ทางสังคม (Social Exchange and Affiliation) ของมนุษย์ โดยหนึ่งในประเด็นที่ศึกษากันมาก ก็คือ…ขนาดของกลุ่ม (Group Size)” ที่มีการศึกษาว่า “จำนวนคนที่มาอยู่รวมกลุ่มกันนั้น ถูกกำหนดจากปัจจัยอะไรบ้าง?”

และกรณีขนาดของกลุ่มเพื่อนนี่ในแหล่งข้อมูลเดิมยังได้อธิบายเสริมไว้ในมุมมานุษยวิทยาด้วยว่า… ขนาดของกลุ่มเพื่อนจะใหญ่หรือเล็ก (มีคนในกลุ่มมากหรือน้อย) ขึ้นกับ “ความสมดุลของประโยชน์ที่จะได้รับ กับต้นทุน” ของการรวมกลุ่ม (Cost-Benefit of Group Living)อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับการช่วย “ลดความเสี่ยง” ในชีวิต และ “เพิ่มโอกาส” การมีชีวิตรอด จากการได้รับการปกป้องจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งขนาดกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น ก็จะมีต้นทุนจากการแข่งขันของคนในกลุ่มเพิ่มขึ้น

“ความเสี่ยง-โอกาส-ต้นทุน-ประโยชน์”

กับ “เพื่อนทางการเมือง” ก็ “มีให้เห็น”

อย่างไรก็ตาม “เพื่อนในเชิงศาสตร์” นั้น…ในแหล่งข้อมูลเดิมยังได้หยิบยกการศึกษาวิเคราะห์ของ Robin Dunbar นักมานุษยวิทยาและจิตวิทยา มาใช้อธิบายไว้ด้วย กล่าวคือ… สมองมนุษย์มีขีดจำกัดในการจำรายละเอียด จึงทำให้ จำนวนเพื่อนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของสมองส่วนหน้า โดยมีผลศึกษาพบว่า มนุษย์มีเพื่อนได้มากที่สุด 150 คน

นอกจากนี้ การศึกษาเรื่องนี้ยังได้จำลองวงของการเข้าถึง เพื่อจะคำนวณหา “จำนวนวงของกลุ่มเพื่อน” เอาไว้ด้วย ซึ่งมนุษย์ 1 คนจะมีจำนวนวงกลุ่มเพื่อนได้หลายวง โดย วงแรกสุดจะเป็นวงเพื่อนที่สนิทที่สุดที่จะมีอยู่ประมาณ 5 คนจากนั้นก็จะมีจำนวนของเพื่อนที่ขยายออกไปในอัตราส่วนราว 3 เท่าของจำนวนเพื่อนสนิทในวงแรกคือ 15-50-150 ตามลำดับ หรือที่เรียกว่า “วง 5-15-50-150” และกับ “จำนวนครั้งในการติดต่อกันของเพื่อน” ก็มีการศึกษา โดยพบว่า เพื่อนที่สนิทที่สุด 5 คนแรก จะมีอัตราการติดต่อกันอยู่ที่ประมาณ 0.37 ครั้งต่อคนต่อวัน ส่วน เพื่อนในวงเพื่อนลำดับถัดไป ในวงที่ 50 ถึง 150 จะมีการติดต่อกันน้อยมาก และถ้ามีเพื่อนในวงท้าย ๆ ที่ขยายออกไปอีก…ก็แทบจะไม่มีการติดต่อกันเลย

โฟกัสที่ “ต้นทุนในการคบกันของกลุ่มเพื่อน” ก็มีการศึกษาพบว่า… กลุ่มเพื่อนจะมี 2 แบบคือ “เพื่อนที่เข้าใจอารมณ์กันและกัน” กับ “เพื่อนที่ทำงานร่วมกันเฉย ๆ” โดยแบบที่เข้าใจอารมณ์กันจะใช้ต้นทุนมากกว่า เพราะก่อนที่จะเข้าใจกันได้ก็ต้องอาศัยอะไร ๆ มากกว่า ทั้งแรง เวลา พลังงาน ในการทำความเข้าใจ มากกว่าแบบที่ทำงานร่วมกันเฉย ๆ ซึ่งในช่วงท้ายบทความดังกล่าวข้างต้นก็ยังมีส่วนที่ระบุไว้ด้วยว่า… เนื่องพราะ เวลาที่ต้องใช้ในการสร้างมิตรภาพก่อให้เกิดการ “ได้อย่าง…เสียอย่าง” ของคุณภาพและจำนวนเพื่อน อย่างชัดเจน ดังนั้น พิจารณาที่ “ต้นทุน” และ “ผลได้” ร่วมกัน เพื่อนที่เข้าใจกันจึงมีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับเพื่อนที่ร่วมทำงานกันเฉย ๆ …นี่ก็อีกส่วนเกี่ยวกับ “เพื่อนในเชิงศาสตร์”

ทั้งนี้ หันมาดูที่ “แวดวงการเมืองไทย” ตอนนี้…ก็มีเหตุการณ์ประมาณว่า… “เลิกคบเพื่อนเก่าที่ก็ดูมีราคา…แต่ไม่อาจจะมีมูลค่าให้ได้จึงเลิกคบ!!” แล้วก็จะ “คบเพื่อนใหม่ที่อาจไม่น่าให้ราคา…แต่มีมูลค่าได้จึงหันไปคบ??” อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านก็มีประเด็นทำนองว่า… “แกล้งเลิกคบเพื่อนเก่าเพื่อให้สามารถคบเพื่อนใหม่ได้…แล้วภายหลังก็จะมีการคืนดีเพื่อนเก่าเพื่อคบกันต่ออีก??” นัยว่านี่เป็น “ดีลลับ??” อะไรประมาณนั้น ซึ่งจริง??-ไม่จริง?? ก็ดูกันไป แต่ที่แน่ ๆ คือ…

“เพื่อนทางการเมือง” ถึงตอนนี้ยิ่งเซ็งแซ่

ก็ “ต้องจับตา” กรณี “ประโยชน์-ผลได้”

ว่า…“จะมีต่อประชาชนแค่ไหน?????”.