แถลงการณ์พรรคเพื่อไทยที่ขอแยกทางกับพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล “เริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ” เนื่องจากปรากฏเงื่อนไขของพรรคการเมืองอื่นๆ และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ไม่ยอมรับนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงขอถอนตัวจากการร่วมมือกับพรรคก้าวไกล และเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ โดยเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม

ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะรวบรวมเสียงให้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเหมาะสม หลังจากนั้นจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันเป็นต้นเหตุของความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ต่างๆของประเทศ โดยกำหนดเป็น “วาระแห่งชาติ” เริ่มจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมครั้งแรกให้มีการทำประชามติและจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ทำ “รัฐธรรมนูญใหม่” เร็วกว่าปี 40 แน่!

ทีมข่าว “Special Report” สนทนากับ นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส. อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตส.ส.ร.ปี 39 เกี่ยวกับ “เงื่อนเวลา” ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ และต้องใช้เวลากี่เดือน กี่ปีจึงจะสำเร็จ

นายสามารถกล่าวว่าถ้าเป็น “วาระแห่งชาติ” คงใช้เวลาไม่นานในการแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากเราเคยแก้รัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง เคยมีส.ส.ร. เคยมีรัฐธรรมนูญซึ่งว่ากันว่าดีที่สุด คือรัฐธรรมฉบับปี 40 เรียกว่าไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์! โดยเฉพาะในปัจจุบันมีช่องทางการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยมากมายกว่าปี 39-40 และประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมากมาย ดังนั้นจึงน่าทำได้รวดเร็วกว่ารัฐธรรมนูญปี 40

สำหรับเรื่อง “เงื่อนเวลา” นั้น! ถ้าครม.นัดแรกของรัฐบาลชุดใหม่มีมติให้ทำประชามติ เพื่อขอความเห็นจากประชาชนว่าสมควรทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ เมื่อครม.มีมติแล้วก็ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ดำเนินการทำประชามติ ซึ่งเหมือนกับการจัดการเลือกตั้งทั่วไปทั้งประเทศ เพื่อ “ขอประชามติใหม่” มาหักล้าง “ประชามติเดิม” ของรัฐธรรมนูญปี 60

“นับจากวันที่ครม.มีมติ จนถึงวันที่ประชาชนไปลงประชามติ น่าจะใช้เวลาภายใน 60 วัน โดยส่วนตัวมองว่าประชามติน่าจะผ่าน คือให้ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เนื่องจากต้องย้อนไปดูว่ามีการรับรัฐธรรมนูญปี 60 มาเพราะอะไร? เป็นธรรมชาติหรือไม่ ขณะที่ฝ่ายต่อต้านในขณะนั้นถูกมัดมือ มัดเท้า ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว แล้วรัฐธรรมนูญปี 60 มีปัญหาอะไรบ้างก็เห็นๆกันอยู่ แต่ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ ประชาชนอยากได้ของดีๆ และทุกคนมีส่วนร่วม ก็น่าจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับปี 40 ด้วยซ้ำไป”

ประชามติผ่าน!ได้ส.ส.ร.ภายใน 6 เดือน

นายสามารถกล่าวต่อไปว่า สมมุติถ้า “ประชามติ” ผ่านแล้ว ก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญในหมวดของการแก้ไขรัฐธรรมธรรมนูญ เพื่อให้มีการตั้งส.ส.ร.ขึ้นมาทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยมีการกำหนดคุณสมบัติของส.ส.ร. ว่าอายุเท่าไหร่ จบการศึกษาระดับไหน และส.ส.ร.จะมาอย่างไรกันบ้าง

สำหรับส.ส.ร.ปี 39 มีจำนวน 99 คน ประกอบด้วยส.ส.ร. จังหวัดละ 1 คน ส่วนที่เหลือมาจากผู้เชี่ยวชาญในการบริหารราชการแผ่นดิน-ผู้เชี่ยวชาญ (นักวิชาการ) ทางด้านรัฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญ (นักวิชาการ) ทางด้านนิติศาสตร์มหาชน เป็นต้น

โดยส.ส.ร.ที่มาจากจังหวัดละ 1 คนนั้น ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนโดยตรง แต่ใครที่คุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขก็ไปสมัครเป็นส.ส.ร.ที่ศาลากลางจังหวัด บางจังหวัดสมัครกันเป็น 100 คน แล้วให้ลงคะแนนเลือกกันเองให้เหลือ 10 คน เพื่อส่งรายชื่อ 10 คนนี้เข้ามาให้สมาชิกรัฐสภา (สส.-สว.) คัดเลือกให้เหลือจังหวัดละ 1 คน

หลังจากทำประชามติผ่าน! แล้วมีการแก้ไขหมายเพื่อให้มีส.ส.ร. ผ่านขั้นตอนต่างๆ จนกระทั่งมีส.ส.ร.เข้ามาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตรงนี้น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน

ใช้เวลาปีครึ่ง-ไม่เกิน 2 ปีเลือกตั้งใหม่

เมื่อได้ส.ส.ร.เข้ามาแล้ว จะเริ่มทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเอาร่างฯ คร่าวๆไปเปิดเวทีประชาพิจารณ์ เพื่อให้ประชาชนทุกจังหวัดมีส่วนร่วมในการเสนอแนะมุมมองต่างๆ จนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งในปี 39 เมื่อได้ส.ส.ร.เข้ามาทำงานแล้ว-ทำประชาพิจารณ์ครบทุกจังหวัด-ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์ ใช้เวลา 240 วัน (8เดือน) แต่ถ้าเป็น “วาระแห่งชาติ” ทำงาน-ประชุมกันบ่อยๆ และมีช่องทางการสื่อสารที่สะดวกรวดเร็วขึ้น ขั้นตอนนี้น่าจะทำได้รวดเร็วกว่า 8 เดือน

หลังจาก ส.ส.ร.ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ตรงนี้ไม่จำเป็นต้องทำประชามติอีก เพราะขึ้นอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญว่าไม่ต้องทำประชามติอีกแล้ว แต่สามารถส่งให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาผ่านความเป็นชอบได้เลย จะแก้ไขอะไรไม่ได้อีก เมื่อสมาชิกรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อลงพระปรมาภิไธย

“ถ้านับจากวันที่ครม.นัดแรกไฟเขียวให้ทำประชามติ ได้ส.ส.ร.เข้ามาทำงาน จนถึงสมาชิกรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบร่างรัฐธรรมฉบับใหม่ น่าจะอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ไม่เกิน 2 ปี คนไทยจะได้เลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งในช่วงเวลา 2 ปี ต่อจากนี้ ผมคิดว่าเหมาะสม เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่มีเวลาทำงานบริหารบ้านเมือง แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาต่างๆที่หมักหมมกันมาหลายปี แล้วจึงประกาศเลือกตั้งใหม่ ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ตอนนั้นมีกลุ่มคนออกมาคัดค้านพอสมควรว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้ามากเกินไป เช่น ให้มีกกต.มาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งแทนกระทรวงมหาดไทย มีองค์กรอิสระต่างๆ (ศาลรัฐธรรมนูญ) มีผู้ตรวจการแผ่นดิน มีการเลือกตั้ง สว.เป็นครั้งแรก และมี สส.บัญชีรายชื่อ ก็เป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญปี 40 ทั้งนั้น” นายสามารถ กล่าว