ต่อเนื่องมาในวันนี้ซึ่งตรงกับแรม 1 คํ่า เดือน 8 เป็น วันเข้าพรรษา วันสำคัญในพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง เป็นวันที่พระสงฆ์อธิษฐานพำนักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น ตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ที่เรียกว่า “จำพรรษา” และในวันเข้าพรรษาเป็นอีกโอกาสที่พุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมกันทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังเทศน์สนทนาธรรม เจริญภาวนา ทำความดีน้อมนำหลักธรรมคำสอนเป็นแนวทางดำเนินชีวิต และในช่วงเข้าพรรษาที่มาถึง อาจใช้ช่วงเวลานี้เป็นจุดเริ่มต้นตั้งใจทำสิ่งดีงามเป็นมงคลแก่ชีวิต

ในช่วงเวลานี้ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูฝน อีกหนึ่งประเพณีสำคัญที่ต้องกล่าวถึงคือ ประเพณีเข้าพรรษาหรือบุญเดือนแปด เป็นหนึ่งในฮีต 12 คอง 14 ประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน ฮีตเดือนแปด คือบุญเข้าพรรษา โดยจากข้อมูลกรมส่งเสริมวัฒนธรรมให้ความรู้ว่า เป็นเดือนที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา พระสงฆ์และญาติโยมจะเตรียมเข้าพรรษา อีกทั้งญาติโยมจะจัดเตรียมจตุปัจจัยไทยทาน เครื่องใช้ สิ่งของมาถวายพระสงฆ์ โดยพิธีกรรมเกี่ยวกับการเข้าพรรษาในภาคอีสานจะคล้ายคลึงกับภาคอื่น ๆ เช่นเดียวกัน

ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาการจัดงานที่รู้จักกันเป็นอย่างดีคือ การแห่เทียนพรรษา ประเพณีที่มีเอกลักษณ์ เป็นหมุดการท่องเที่ยวทำบุญที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยการถวายเทียนจำนำพรรษาที่ร่วมกันหล่อหลอมตั้งใจนำไปถวายก็เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์จุดให้แสงสว่าง ในการปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ เป็นพุทธบูชาตลอดเวลา 3 เดือน เนื่องมาจากสมัยก่อนพระภิกษุสงฆ์ไม่มีไฟฟ้าใช้ การนำเทียนไปถวาย ชาวบ้านมักจัดขบวนแห่และปฏิบัติสืบทอดกันมาจนเป็นประเพณี

อีกทั้งทำเทียนเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย โดยนำรังผึ้งร้างมาต้มเอาขี้ผึ้งแล้วฟั่นเป็นเทียนเล่มเล็ก ๆ มีความยาวตามต้องการ เช่น ยาวเป็นคืบ หรือเป็นศอก แล้วใช้จุดบูชาพระ เทียนพรรษาเริ่มมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธยึดถือเป็นประเพณีนำเทียนไป
ถวายพระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา
และจากที่กล่าวประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นประเพณีปฏิบัติของชาวพุทธที่กระทำมาแต่ครั้งพุทธกาล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บารมี อริยะเลิศเมตตา หัวหน้าภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความรู้เล่าเพิ่มถึงการถวายเทียนพรรษา ประเพณีสำคัญวันเข้าพรรษาอีกว่า สืบเนื่องจากวันอาสาฬหบูชาต่อเนื่องมาเป็นวันเข้าพรรษา โดยเบื้องต้นขอกล่าวถึงครั้งสมัยพุทธกาล ซึ่งประเพณีการทำบุญเข้าพรรษา การถวายเทียนพรรษา เราปฏิบัติสืบสานต่อเนื่องมายาวนานและไม่ใช่แค่การถวายเทียนให้กับวัดให้พระภิกษุได้ใช้

ช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่พระภิกษุศึกษาพระธรรม ไม่เดินทางไปจำพรรษาที่อื่นใดก็เป็นโอกาสที่พุทธศาสนิกชนจะได้ทำบุญถวายภัตตาหาร ฟังเทศน์ฟังธรรมกับพระภิกษุสงฆ์ ได้ตั้งใจมั่นอธิษฐานทำคุณงามความดี ใช้ช่วงเวลา 3 เดือนเป็นหมุดหมายเริ่มต้นปฏิบัติ หรือศึกษาปฏิบัติธรรม อีกทั้งในช่วงเข้าพรรษา นอกจากการถวายเทียนยังมีการ ถวายผ้าอาบนํ้าฝน ร่วมด้วย

จากประวัติที่กล่าวถึงเหตุที่ทำให้เกิดประเพณีนี้ ด้วยที่สมัยก่อนในช่วงฤดูฝน มีภิกษุได้เดินไปเหยียบยํ่าข้าวกล้าในนาของชาวบ้าน พระพุทธเจ้าจึงอนุญาตให้ภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาที่วัดเป็นเวลา3 เดือนคือในช่วงวันแรม 1 คํ่า เดือน 8 ถึงวันขึ้น15 คํ่า เดือน 11
ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดการเก็บเกี่ยวของชาวบ้าน

“ในช่วงเข้าพรรษาประชาชนจะนำเทียนไปถวายพระภิกษุเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาและศึกษาเล่าเรียน พระภิกษุสงฆ์ได้อ่านหนังสือศึกษาพระธรรม เทียนยังมีความนัยความหมายถึงปัญญา ความเฉลียวฉลาด เป็นสิ่งเปรียบดั่งแสงสว่างแห่งปัญญา ซึ่งปัจจุบันนอกจากการถวายเทียนจะเห็นการถวายหลอดไฟซึ่งก็เป็นการอนุโลม ทั้งนี้ด้วยยุคสมัยปรับเปลี่ยนไป จากเดิมที่วัดไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อมีไฟฟ้าก็สามารถใช้หลอดไฟให้แสงสว่าง แต่ที่จะขาดไปไม่ได้เป็นประเพณีปฏิบัติในช่วงเข้าพรรษาคือ การถวายเทียน

ผศ.ดร.บารมี อธิบายเพิ่มอีกว่า ในอดีตเทียนที่นำไปถวายพระเป็นเทียนเล่มเล็กขนาดพอเหมาะ ใช้ไขผึ้งนำมาหลอมเป็นเทียนเรียบง่าย แต่ด้วยวิวัฒนาการด้วยความตั้งใจให้เทียนจุดได้นานจึงหลอมเป็นเทียนขนาดใหญ่ แกะสลักสวยงาม ทั้งมีงานบุญประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา และไม่ว่าจะเป็นการถวายหลอดไฟ หรือเทียนจุดหมายก็เพื่อให้แสงสว่างแก่พระภิกษุได้ ศึกษาพระธรรม

โดยในช่วง 3 เดือนของเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนอาจเริ่มต้นอาศัยช่วงเวลานี้อธิษฐานตั้งจิต หมั่นทำสิ่งที่ดีงามที่ตั้งใจไว้เป็นมงคลแก่ชีวิตและหากปฏิบัติได้ต่อเนื่องต่อไป หลังจากออกพรรษาก็เป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้การปฏิบัติที่ต่อเนื่องจะกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ทั้งนี้หัวหน้าภาควิชาปรัชญาและศาสนา ผศ.ดร.บารมี กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ในวันพระใหญ่อาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาในวันนี้เป็นวันที่มีความสำคัญ การน้อมนำธรรมไปประพฤติปฏิบัติ การใช้ช่วงเวลานี้ ใช้วันนี้เริ่มต้นตั้งใจทำคุณงามความดี สิ่งที่ดี ๆ เป็นมงคลแก่ชีวิต

ด้วยประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีเป็น ประเพณีที่ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ทั้งนี้นำเรื่องน่ารู้ความรู้ส่วนหนึ่งที่เผยแพร่โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นำมาบอกเล่าโดยเมืองอุบลราชธานี เมื่อครั้งอดีตถือเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เรียกขนานนามว่า “ดงอู่ผึ้ง” ป่าที่เป็นแหล่งทำรังของผึ้งหลวงขนาดใหญ่ โดยในช่วงเดือน 5 ของทุกปีจะมีชาวบ้านเก็บนํ้าผึ้งป่า และผลพลอยได้จากการเก็บนํ้าผึ้งป่าคือรังผึ้งป่า จึงเกิดภูมิปัญญาจากการใช้ขี้ผึ้งป่าจากธรรมชาตินำมาทำเทียน เพื่อใช้ในการให้แสงสว่าง ประกอบกับในช่วงเวลาเดือน 8 คือ งานบุญเข้าพรรษาตามฮีตคองของชาวอีสาน จึงถือเป็นประเพณีในการถวายเทียนพรรษา เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้ใช้ประโยชน์จากแสงเทียนในการส่องสว่าง สำหรับใช้ในการศึกษาพระธรรมวินัยขณะจำพรรษา

การแห่เทียนพรรษาแต่เดิมชาวบ้านจะร่วมกันบริจาคเทียนให้กับหัวหน้าชุมชน แล้วนำมามัดติดกันกับลำไม้ไผ่เป็นปล้องเรียกว่า “เทียนมัดรวม” แล้วปิดรอยต่อด้วยกระดาษสี กระดาษทอง-เงิน ตอกเป็นลวดลายต่าง ๆ เสร็จแล้วนำต้นเทียนมัดไปมัดติดกับฐานที่ทำจากปี๊บนํ้ามันก๊าดหรือนํ้ามันมะพร้าว แห่ไปถวายวัดต่าง ๆ ในชุมชนของตน

ในสมัยก่อนจะใช้พาหนะเกวียนเทียมวัวหรือใช้คนลากจูง มีขบวนแห่ตีกลอง ฆ้อง กรับ ฟ้อนรำสนุกสนานรื่นเริง ต่อมาการทำเทียนได้พัฒนาขึ้นถึงการต้มหล่อลงไปในแม่พิมพ์ออกมาเป็นดอกดวงคล้ายลายไทย นำมาติดประดับตกแต่ง ต้นเทียนที่มีลักษณะเรียบเรียกว่า เทียนประเภทติดพิมพ์

ต่อมาการตกแต่งต้นเทียนมีความวิจิตรยิ่งขึ้นโดยการทำฐานเทียนเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ด้วยการปั้นและการตกแต่งด้วยขี้ผึ้งทำให้เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีมีความงดงามละเอียดมากยิ่งขึ้น ทั้งเป็นที่สนใจยิ่งขึ้น อีกทั้งคิดค้นวิธีการแกะเทียนพรรษาทั้งต้นซึ่งเป็นการคิดขึ้นมาใหม่ครั้งแรกทำให้วิธีนี้ถือเป็นการแสดงฝีมือในเชิงช่าง โดยช่างแกะสลักต้นเทียนเรียนรู้และฝึกหัดถ่ายทอดออกมาอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งบอกเล่าประเพณีแห่เทียนพรรษา

ประเพณีทางพุทธศาสนา บอกเล่างานบุญเข้าพรรษาในวันเข้าพรรษาที่มาถึง.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ