ผลลัพธ์ข้างต้นเป็นผลพวงการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ 27 ธ.ค.57 ปัจจุบันผ่านมา 8 ปี แนวโน้มสถานการณ์ บทบาทกฎหมายเป็นอย่างไรบ้าง “ทีมข่าวอาชญากรรม” ชวนสะท้อนมุมมองกับ ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผอ.สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ซึ่งชี้ว่าการร้องทุกข์ในคดีลักษณะนี้มีจำนวนมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีบางประเด็นน่าจะปรับปรุงให้สอดรับสถานการณ์ หรือบังคับใช้เพิ่มขึ้น ได้แก่

1.การร้องทุกข์กล่าวโทษที่มักไม่ได้รับความสะดวก ผู้เสียหายหรือผู้พบเห็น ไม่กล้าแจ้งความเอง ทั้งที่ใครที่พบเห็นก็แจ้งได้ทันที แม้เป็นตัวเจ้าของทารุณฯสัตว์เลี้ยงตัวเองก็ตาม โดยตำรวจต้องดำเนินการเพราะเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่“คดีอุทลุม” หรือคดีปัญหาในครอบครัว แต่ส่วนใหญ่ไม่อยากข้องเกี่ยวเพราะกลัวความยุ่งยาก ซับซ้อน เสียเวลา  ดังนั้น เห็นว่าควรพิจารณาแต่งตั้งบุคคล เพื่อเป็นผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ และมีอำนาจร้องทุกข์กล่าวโทษได้ด้วย

2.ขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐานยังมีความไม่ชัดเจน เช่น สุนัขเสียชีวิตจากการทารุณฯควรเก็บรักษา เพื่อรอตรวจพิสูจน์อย่างไร หรือควรฝังทำลายทันที  ใครจะช่วยสนับสนุนการรวบรวมพยานหลักฐาน พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้เสียหาย อย่างคดีทารุณฯสัตว์ทั่วไป มักไม่ค่อยได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร ดังนั้น จึงควรพัฒนาองค์ความรู้และหลักปฏิบัติที่มีมาตรฐานสากล นำเทคโนโลยีและหลักนิติวิทยาศาสตร์มาใช้เพิ่มขึ้น

3.ควรจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือสัตว์ หรือสถานสงเคราะห์สัตว์ รวมทั้งพัฒนาสถานกักสัตว์เลี้ยงของท้องถิ่นและเอกชน จัดตั้งกองทุนเพื่อการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเดือดร้อนจากสัตว์

4.ปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ ปัญหาสัตว์จร ปัญหาสัตว์เลี้ยงที่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ การป้องกันโรคที่สัตว์เป็นพาหะ ปัญหาการขาดจิตสำนึกรับผิดชอบของผู้เลี้ยงสัตว์ มักไม่ค่อยได้รับการนำเสนอ หรือแก้ไขเป็นรูปธรรม แม้มีความพยายามให้ขึ้นทะเบียนสัตว์และองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ สถานสงเคราะห์สัตว์ตามกฎหมาย เพื่อแก้ไขแต่ก็ไม่ต่อเนื่องชัดเจน 

5.รายมาตรากฎหมายค่อนข้างครอบคลุม และปกป้องการทารุณฯและพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ แต่เมื่อบังคับใช้มานาน บางบริบทสังคมเปลี่ยนแปลง จึงควรเพิ่มหรือขยายองค์ประกอบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ เช่น การระบุความชัดเจนของความเป็น“เจ้าของสัตว์” กรณีสัตว์ไม่มีเจ้าของ แต่อาจมีบุคคลที่มีพฤติกรรมเลี้ยงดูสัตว์เป็นประจำ รวมทั้งการเสนอความรับผิดชอบของเจ้าของ ในกรณีสร้างความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น

ทั้งนี้ กรณี“เจ้าของสัตว์”ครอบคลุมไปถึง ผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดประจำหรือไม่นั้น กรณีดังกล่าวเคยมีข้อพิพาทขึ้นศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาที่ อ.764/2556 “เจ้าของสุนัข” หมายความรวมถึง “ผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำด้วย”นั้น จะมีผลให้ผู้ที่เพียงแต่ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำด้วยความเมตตา ต้องมีภาระหน้าที่พาไปฝังไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัข มิเช่นนั้นอาจทำให้บุคคลนั้นกระทำผิดกฎหมาย ทั้งที่หน้าที่ในการจัดการ ควบคุม ดูแลสุนัขจรจัดเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นกลับผลักภาระให้ประชาชน 

ดังนั้น ผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำก็ไม่ถือว่าเป็นเจ้าของ ตามนัยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

ในทางกลับกันกรณีสุนัขจรจัดไปสร้างความเสียหายกับผู้อื่น ศาลปกครองสูงสุดก็เคยวินิจฉัยตัดสินให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบดูแลสัตว์จรจัดชดใช้ค่าเสียหายให้เอกชน

นอกจากนี้ มีกรณีตัวอย่างสัตว์ที่ไม่สามารถหาเจ้าของได้ แต่ถ้าปรากฏว่ามีผู้ให้อาหารและที่อยู่อาศัยเป็นประจำอย่างเปิดเผยและไปสร้างความเสียหาย มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1639/2565 ตัดสินการที่จำเลยให้อาหารสุนัขเป็นประจำ ด้วยระยะเวลา 2-5 ปี อีกทั้งให้นอนอาศัยในบริเวณบ้าน เมื่อสุนัขเกิดลูกยังได้นำลูกสุนัขไปให้ผู้อื่น พฤติการณ์บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยเลี้ยงสุนัขอย่างเป็นเจ้าของสุนัข มิใช่เพียงให้ความเมตตาแก่สุนัขจรจัดทั่วไป

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สุนัขนั้นเป็นสัตว์ดุกัดเด็กผู้หญิง 2 ปี 11 เดือน จนถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฐานเป็นผู้ควบคุมสัตว์ดุ ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปตามลำพังทำอันตรายแก่บุคคล ตามประมวลกฎหมายอาญาและต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย

ดร.สาธิต ระบุ คดีเตี้ย มช.เป็นตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายทารุณฯสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร และการตัดสินลงโทษ จำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ที่ผ่านมาศาลเคยตัดสินโทษและไม่รอลงอาญามาแล้ว เช่น ปี 2558 คดีโพสต์คลิปกินสุนัข(พิพากษาตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญา เป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์) ดังนั้น ฝากผู้เสียหายหรือผู้พบเห็นการทารุณฯสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร สามารถแจ้งความได้โดยตรง

“สุนัขเตี้ย มช. และการทารุณฯสัตว์อื่นๆจะเป็นอุทาหรณ์ที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีเมตตาธรรม และควรใช้ความระมัดระวัง เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายรับรอง และคุ้มครองไม่ให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานโดยไม่มีเหตุอันสมควรทั้งสัตว์ที่มีเจ้าของและสัตว์จรจัดด้วย”

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]