มีคนบอกว่า “กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” คือไม่เหมือนเดิมจริงๆ กลายเป็นอะไรน่างงไปเลยพี่จ๋า ตรงที่ใครเคยว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ล้มเจ้า วันนี้ก็กลับมานิยมชมชอบนายทักษิณ และผลักนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯ กลับไปเป็นขั้วซ้ายจัดเกือบสังคมนิยม จากที่เดิมเพื่อไทยถูกมองเป็นขั้วซ้าย และพรรคประชาธิปัตย์เป็นขั้วขวา แต่กลายเป็นว่าวันนี้ประชาธิปัตย์แทบไม่มีบทบาทอะไรทางการเมืองนอกจากรอว่าเขาจะให้เป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล เป็นพรรคที่เลือดไหลออกชนิดที่ว่า ถ้าเป็นคนก็ร่อแร่
ตอนนี้เพื่อไทยถูกมองเป็นขั้วขวา จะต้องมาต่อสู้กับขั้วซ้ายคือพรรคก้าวไกล แต่ที่ฮาคือ ขั้วขวากับขั้วซ้ายดันจับมือตั้งรัฐบาล โดยใช้เอ็มโอยูรัดคอกันเองเป็น “ส่างหม่อง-ยุพดี” เรื่องชั่วฟ้าดินสลาย ซึ่งนายวัน อยู่บำรุง อดีต ส.ส.บางบอน พรรคเพื่อไทยเอามาแซวว่า ตอนจบหนังเรื่องนี้เป็นอย่างไร ก็.. ถ้าจำไม่ผิดน่าจะฆ่ากันตายเอง ส่างหม่องตัดมือยุพดีออกจากโซ่ล่ามให้ตัวเองเป็นอิสระ แต่ขณะเดียวกันส่างหม่องก็เป็นบ้า… ตอนนี้ก็น่าสงสัยว่า ใครเป็นตัว “พะโป้” ที่จับสองคนนี้มัดติดกันไว้ ..ก็น่าจะอัตตาส่วนตัวกันทั้งคู่ คือ เพื่อสู้ความเบี้ยวๆ บูดๆ ในรัฐธรรมนูญ ขจัดการสืบทอดอำนาจ ต้องมาจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากร่วมกัน …แต่ปัญหาคือ “ส่างหม่อง-ยุพดี” เที่ยวนี้รักกันไม่ค่อยนานก็แทงหลังกันแล้ว และไม่ทราบว่าระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกล ใครจะเป็นคนฆ่าและสลัดอีกฝ่ายออกไปก่อน
ดูๆ ไปแล้ว เมื่อขั้วความคิดค่อนข้างต่างกัน น่าจะเรียกว่า “จัดตั้งรัฐบาลผสม” มากกว่าจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งแต่เดิมทีแรก ก็โหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล แต่เสียงในสภาไม่ผ่าน พอจะโหวตรอบสอง ถูกตีความข้อบังคับที่ 41 ว่าการเสนอโหวตนายกฯ เป็นญัตติหรือไม่ แล้วก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญไป ทางนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ก็ดูจะมีแนวคิดว่า “รอศาลก่อน” เพราะถ้าตัดสินออกมาในทางไหนก็มีผลต่อแคนดิเดตเก่าและแคนดิเดตใหม่ … แต่ก่อนหน้านั้น พรรคก้าวไกลก็ประกาศถอยจัดตั้งรัฐบาล ..น่าจะเห็นว่า จะรวมเสียงอย่างไรก็ไม่ถึง 376 เสียง เลยส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย
ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็บ้งในเรื่องการสื่อสาร ในการเชิญพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบันมาหารือ ไม่รู้สื่อสารกับสังคมกันอีท่าไหน กลายเป็นภาพว่าไปเชิญพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบันมาร่วมรัฐบาลใหม่ จนเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมาเชิญพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) มา มีการจัดม็อบแสดงความไม่พอใจที่ถนนอโศก และมีกลุ่มเยาวชนทะลุวังไปบุกป่วนพรรคเพื่อไทย ปาแป้ง ไล่ล่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา ประธาน สส.พรรค พปชร.กันให้วุ่นวาย ซึ่งม็อบทะลุวังนี่…ก็ถูกมองการเคลื่อนไหวในด้านลบเยอะ และน่าจะเป็นกลุ่มที่นายแสนปิติ สิทธิพันธุ์ บุตรชายนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.เรียกว่าเป็น bratty teenager , disobedient children อารมณ์ประมาณพวกเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล หรือใครสอนก็เอาไม่อยู่ แนวๆ นี้
ทีนี้กองเชียร์“ฝั่งต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง” หรือที่เขาเรียกตัวเองกันหรูๆ ว่า “ฝั่งประชาธิปไตย” จะยอมหรือ ไม่ใช่แค่กองเชียร์ ที่ออกท่าว่าไม่ยอมที่สุดคือพรรคก้าวไกล ตั้งแต่ให้ตัวจี๊ดๆ ของพรรคออกมาประกาศแล้วว่า ไม่ว่าอย่างไรจะไม่ยอมจับมือกับพรรค พปชร.และรวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) เด็ดขาด เพราะเป็นพรรคของสองลุง … ซึ่งก่อนหน้านั้นพรรคสองลุง พรรคภูมิใจไทย ก็ประกาศไม่เอาพรรคก้าวไกลไปแล้ว ขณะที่ชาติไทยพัฒนาและประชาธิปัตย์ ชาติพัฒนากล้า ดูเหมือนยังไม่ประกาศท่าทีชัดเจนนัก เอาแค่ไม่แตะ ม.112
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง สส. บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ต้องออกมาอธิบายซ้ำว่า สิ่งที่ 8 พรรคร่วมมอบหมายให้พรรคเพื่อไทยไปดำเนินการ คือการรวมเสียง อยู่ในระหว่างการทำงาน โดยเฉพาะการเจรจาไปกับกลุ่ม สว. หรือรอผลการตัดสินใจอีกหลายอย่าง พรรคเพื่อไทยไปประสานกับ สว.เองนั้น ก็อยู่ระหว่างการพูดคุยและบางส่วนได้มีการตัดสินใจแล้ว ขอให้คอยเพราะยังมีเวลา สว.หลายคนยังติดขัดเรื่อง ม.112 อยู่ แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ ขอไปรวบรวมเสียงและทำตัวเลขก่อน นอกจากได้คุยกับ สว. แล้วยังได้พูดคุยกับพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย ซึ่งทั้ง 8 พรรคร่วมต้องมาพูดคุยกันอีกครั้ง มีเวลามากขึ้น อีก 1 สัปดาห์ในการพูดคุย
นายประเสริฐต้องการันตีว่า คุยกับนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลแล้ว ว่า อย่ามองว่า พรรคเพื่อไทยยืมมือเพื่อนผลักพรรคก้าวไกลออกไป แต่พรรคเพื่อไทยทำตามมติของ 8 พรรคร่วม ไม่ได้มีการตกลงให้พรรคอื่นเข้าร่วมรัฐบาลหรือตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการพูดคุยว่าสถานการณ์การเมืองเมื่อเป็นแบบนี้แล้วทุกคนคิดเห็นอย่างไร เชื่อว่า พรรคก้าวไกลรับรู้ในสิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำ เพราะพูดคุยกันแล้วว่าจะมีการไปพูดคุยกับทุกพรรค ยืนยันว่า 8 พรรคร่วมยังพูดคุยและร่วมกันทำงานอยู่ และจะคุยเรื่องวาระโหวตนายกฯ วันที่ 27 ก.ค. ตอนเราพิจารณาแคนดิเดตนายกฯ กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) มอบหมายให้หัวหน้าพรรคมีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจได้เลย
อย่างไรก็ตาม น่าสนใจตรงที่…เหมือนนายประเสริฐ มั่นใจมากว่า “การโหวตของพรรคเพื่อไทยจะผ่าน เพราะคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยครบ” มั่นใจได้คือรวมเสียงถึง 376 เสียง ขณะเดียวกัน วันที่ 26 ก.ค. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แคนดิเดตนายกฯ ก็ประกาศว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะกลับไทยวันที่ 10 ส.ค.ที่สนามบินดอนเมือง …จึงน่าคิดว่า เอาจริงแล้ว มีนัยยะอะไรที่พรรคเพื่อไทยพยายามผลักก้าวไกลออกไปหรือไม่ ..เพราะมีความเชื่อว่า “ถ้ารัฐบาลที่นายทักษิณจะกลับมาได้ ต้องมีเพื่อไทยเป็นแกนนำ และไม่มีพรรคก้าวไกล” มันมีความเชื่อแบบนี้ออกมาจริงๆ และคิดว่า บางคนก็น่าจะคิดอยู่ และคิดไปถึงสาเหตุด้วย…..
ซึ่งพูดกันด้วยหลักความจริง การเมืองมันเรื่องของผลประโยชน์ ชวนเขามาหารือแล้วจะไม่ให้เขาร่วมรัฐบาลเนี่ยมันประหลาด ไปขอเสียงแต่ละพรรคในขั้วพรรคร่วมรัฐบาลเดิมเขาคงยอมให้อยู่หรอก ถ้าไม่ให้เขาเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะภูมิใจไทยเนี่ยระดับเขี้ยวลาก และเสียงมีถึง 71 เสียงด้วย ตอนนี้ในขั้วพรรค 8 พรรคร่วมก็เลยมี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวสเป็น “สายแทงก์” ที่ออกมากระตุกเป็นระยะว่า “ที่ก้าวไกลตั้งไม่ได้เพราะคุณไม่มีเพื่อนเอง” เนื่องจากนโยบายแก้ ม.112 และล่าสุด คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ( ทสท.) ก็ออกมาพูดชัดว่า ไม่เอาแก้ ม.112 ก็คิดเองว่าเป็นสัญญาณถีบก้าวไกลออกทางอ้อมหรือไม่ ซึ่งพรรคเพื่อไทยพรรคใหญ่คงไม่แสดงท่าทีอะไรมากมันดูไม่ดี
คราวนี้ก้าวไกลต้องเดินเกม “ชั่วฟ้าดินสลาย” แบบยุพดี-ส่างหม่อง คือจะเอาใครมาแทรกตูสกัด ตั้งแต่ตอนที่ประกาศไม่เอาพรรค 2 ลุงมาร่วมรัฐบาล ต่อมา ก็มีนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.ก้าวไกลออกมาสกัดการจับมือกับภูมิใจไทยโดยการเดินเกมตรวจสอบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เรื่องซุกหุ้นบุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ที่ได้งานจากกรมทางหลวงไปจำนนหนึ่งหรือไม่ ..ก็เป็นการประกาศศึกกับภูมิใจไทยกลายๆ อีกทาง…ทำนองว่า ตอนนี้เพื่อไทยเจรจา ก้าวไกลเดินเกม “มีฉัน ต้องไม่มีมัน” สกัด ..ซึ่งถ้าเป็นเรื่องการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่นก็เป็นเรื่องที่แต่ละพรรคเถียงไม่ออก เพราะมันเป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมืองและพลเมือง ..
อย่างไรก็ตาม นายวราวุธ ศิลปะอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ได้ให้แง่คิดว่า ถ้าไม่ได้นายกฯ และ ครม.เร็วๆ จะส่งผลให้ขั้นตอนบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลใหม่ล่าช้าออกไป งบประมาณก็จะล่าช้าออกไป การบริหารราชการแผ่นดินทุกอย่างมีกรอบเวลา ยังไม่นับถึงสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ข้อตกลงต่างประเทศหลายอย่างที่ประเทศไทยมีความร่วมมือและลงนามไว้ ซึ่งเป็นพันธะที่เราต้องดำเนินการ การทำงานภายใต้สถานะรัฐบาลที่ไม่เต็มตัวนั้นมีข้อจำกัดหลายอย่าง การที่มีผู้เสนอให้รัฐบาลรักษาการไปอีก 10 เดือนไม่สามารถทำได้ เชื่อว่าความคิดดังกล่าวเป็นความคิดส่วนบุคคล และ 8 พรรคร่วม รวมทั้งพรรคที่ได้เสียงข้างมากทราบดีอยู่แล้ว เข้าใจดีว่าข้อจำกัดเรื่องการใช้งบประมาณ การอนุมัติกรอบงบประมาณ การทำงานระหว่างประเทศมีความสำคัญเพียงใด
“หัวใจสำคัญอยู่ที่ พรรคใดพรรคหนึ่งคงต้องพิจารณาว่าหากจะให้ประเทศไทยเดินหน้าต้องทำอย่างไร เป็นสิทธิ์ที่พรรคใหญ่จะต้องพิจารณา แต่ละพรรคจะมีแนวทางการทำงานที่แตกต่างกันไป พรรคก้าวไกลก็จะมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าทำงานในลักษณะใด พรรค ชทพ. เองตนย้ำเสมอตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ จุดยืนเราไม่เคยเปลี่ยน” ก็คือส่งสัญญาณแล้ว ว่า ไม่ยุพดีกับส่างหม่อง ใครสักคนต้องฆ่าใครก่อนเพื่อแยกตัวออกจากโซ่ไปมีชีวิตต่อ
นายวราวุธระบุถึงสมัยรัฐบาลบรรหารว่า “ถ้าใครได้มีโอกาสย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ ครั้งนั้นนายบรรหารโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างหนัก แต่เมื่อยุบสภาฯแล้วมีรัฐบาลใหม่เลือกตั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมาก แต่จะไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้หากพรรคชาติไทยในขณะนั้นไม่เข้าร่วมรัฐบาลด้วย มีการมาทาบทามเชิญ”
“อยากบอกว่า วันนั้นถ้านายบรรหารยังยึดติดกับความโกรธแค้นที่มีจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่รวมกับพรรคประชาธิปัตย์ในวันนั้นการเมืองไทยและเศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ ฉะนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งต้องใช้ความอดทน อดกลั้น มองถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมาก่อน ที่ยกตัวอย่างเพื่อเอาประวัติศาสตร์การเมืองมาเตือนว่าอย่าเอาความโกรธแค้น เรื่องนั้นเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าไม่ได้”
มูฟเมนท์ต่อจากนี้มันน่าสนใจ แต่มันน่าเบื่อเต็มทีถ้าสุดท้ายอะไรๆ ก็วนเวียนอยู่ในเรื่องผลประโยชน์นักการเมือง.