เรียนคุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่นับถือ

ตอนนี้ผมอายุ 65 ปี เคยผ่านการแต่งงานมาแล้ว 2 หน ภรรยาคนล่าสุด อายุ 35 ปี เพิ่งอยู่กินกันมาได้ 2 ปีกว่า เธอมีลูกติด 2 คน ครอบครัวมีความสุขดี แต่ที่เป็นปัญหาตรงตัวผมเป็นคนที่มีอารมณ์เพศบ่อยมาก ที่ผ่านมาจะมีอะไรกันเกือบทุกวัน โชคดีที่ภรรยายังสาวก็เลยมีอารมณ์ร่วมด้วยตลอด แต่ที่กังวลใจตอนนี้คือเวลาที่อวัยวะเพศแข็งตัวทีไรมักจะไม่ค่อยอ่อนตัวคือจะ “แข็งค้าง” อยู่นานพอควรกว่าจะลงได้เป็นแบบนี้บ่อยมาก จนหลัง ๆ มานี้แทบไม่อยากมีอะไรกับแฟนเลยกลัวว่าจะเกิดอันตรายมากกว่านี้ แต่เป็นที่น่าสังเกตคือแข็งค้างทีไรไม่มีอาการปวดหรือเจ็บแต่อย่างไร แค่น่ารำคาญและกังวลใจ จึงไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร เป็นอันตรายหรือไม่ หากเกิดขึ้นอีกเรื่อย ๆ จะแก้ไขได้อย่างไร

ด้วยความนับถือ
โสพล 65

ตอบ โสพล 65

อาการทางเพศของชายวัย 65 ปี คืออวัยวะเพศแข็งค้างโดยปราศจากความเจ็บปวดใด ๆ ทางการแพทย์เรียกว่าภาวะไพรอะพิสม์ เป็นแบบชนิด Nonischemic (arterial, high flow) priapism เป็นภาวะองคชาตแข็งตัวค้างที่ไม่เกี่ยวข้องทางเพศที่เกิดจากการไหลเข้าของเลือดสู่องคชาตที่ผิดปกติ โดยทั่วไปกล้ามเนื้อคอร์ปอร่า คาเวอโนซา (corpora cavernosa) จะไม่ได้แข็งตัวเต็มที่หรือเจ็บปวด ผลการตรวจก๊าซในเลือดจะไม่มีลักษณะออกซิเจนต่ำหรือเลือดเป็นกรด ภาวะแบบนี้ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินเพราะกล้ามเนื้อเพศได้รับออกซิเจนเพียงพอและการแข็งตัวที่เกิดขึ้นไม่เจ็บปวด

สาเหตุส่วนมากของภาวะนี้เกิดจากการ โรคโลหิตจาง Sickle Cell Disease (SCD), โรคมะเร็งของเม็ดเลือด, การได้รับยาบางชนิดที่ทำให้เกิดภาวะไพรอะพริมส์ จากการฉีดยาเข้าสู่กล้ามเนื้อเพศ เช่น กลุ่มยา papaverine และ prostaglandin กลุ่มนี้จะปวดมากและกลุ่มไม่ปวดจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณอุ้งเชิงกราน, อวัยวะเพศหรือฝีเย็บ โดยเฉพาะการล้มหรือการถูกกระแทกบริเวณฝีเย็บ การบาดเจ็บอื่น ๆ ที่มีรายงาน คือ การได้รับบาดเจ็บที่องคชาตระหว่างการร่วมเพศ การบาดเจ็บบริเวณอุ้งเชิงกราน การบาดเจ็บจากการถูกเตะที่องคชาตหรือฝีเย็บ และการบาดเจ็บจากเข็มที่ใช้ฉีดยาเข้าที่องคชาต จะเริ่มปวดก่อนแล้วตามด้วยการแข็งตัวแบบไม่ปวด อาจเกิดหลังได้รับการบาดเจ็บนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันก็ได้

การเกิดไพรอะพิสม์แบบ Nonischemic priapism มีอันตรายกับชีวิตน้อยมากเนื่องจากภาวะ nonischemic priapism ไม่ได้ทำให้เซลล์ที่องคชาตได้รับความเสียหายและการรักษาที่ช้าขึ้นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร ฉะนั้นการจัดการมาตรฐานของภาวะนี้คือ การสังเกตอาการ โดยจากรายงานพบว่าคนไข้ประมาณ 2 ใน 3 จะหายได้เอง แต่การเกิดภาวะนี้มีความเสี่ยงต่ออาการที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาการเหล่านั้น ได้แก่ การหย่อนสมรรถภาพทางเพศซึ่งพบได้ 50% และภาวะอื่น ๆ เช่น เนื้อตายที่องคชาต, การอักเสบเป็นหนองที่กล้ามเนื้อเพศ และฝีหนองที่ฝีเย็บ ขอแนะนำให้ไปตรวจร่างกายและขอคำแนะนำจากแพทย์ทางเดินปัสสาวะหากจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ได้ จะได้หายกังวลใจและกลับมามีความสุขทางเพศได้อย่างเดิม

————————-
ดร.โอ สุขุมวิท 51