จากกรณีคณะกรรมการรังนกอีเเอ่นพัทลุง ได้ประกาศให้สัมปทานรังนกหมู่เกาะสีเกาะห้า อ.ปากพะยูน เป็นเวลา 5 ปี หลังจากสัญญาการสัมปทานรังนกจะหมดลงในวันที่ 14 มิ.ย.64 แต่หลังเปิดขายซองเอกสารการประมูลไป 8 ครั้งไม่มีผู้สนใจ จนต้องเปิดประมูล ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีบริษัทรังนกฯเข้ายื่นซองการประมูลการสัมปทานรังนกฯ จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ หจก.พี.เอส.บี.กรุ๊ป เสนอราคาการประมูลรังนก 370,100,000 บาท บริษัทสยามเนสท์ 2022 จำกัด ผู้รับสัมปทานเดิม เสนอราคาการประมูลฯ 400 ล้านบาท และบริษัท เค.โอ.ซี อิมปอร์ต เอ๊กซ์ปอร์ต จำกัด เสนอราคาการประมูลรังนกฯ 381 ล้านบาท ต่อมาคณะกรรมการรังนกได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้บริษัทสยามเนสท์ 2022 จำกัด เป็นผู้ได้รับการสัมปทานรังนกฯในครั้งนี้นั้น
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ผู้สื่อข่าวจ.พัทลุง รายงานว่า เมื่อวานนี้ (9 ก.ย.) ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง ซึ่งได้รับการมอบหมายจากคณะกรรมการรังนกฯ ได้ลงนามในสัญญาสัมปทานรังนกอีแอ่นท้องที่จังหวัดพัทลุง กับบริษัทสยามเนสท์ 2022 จำกัด กับนางกมลทิพย์ ทองฤทธิ์ ผู้รับสัมปทาน ซึ่งในการทำสัญญาสัมปทานรังนกฯในครั้งนี้ บริษัทสยามเนสท์ 2022 จำกัด เป็นผู้มีสิทธิ์เข้าเก็บรังนกอีแอ่นในพื้นที่เกาะรังนกที่ได้รับการสัมปทาน ในพื้นที่หมู่เกาะสี่-เกาะห้า ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน ในวงเงินอากร จำนวน 400 ล้านบาท ระยะเวลาการสัมปทาน 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2564 ถึงวันที่ 8 กันยายน 2569
ด้านบริษัทสยามเนสท์ฯ ซึ่งเป็นผู้เข้าทำสัญญาการสัมปทานรังนกฯ ได้นำเงินหลักประกันสัญญาจำนวน 64 ล้านบาท และนำเงินก้อนแรกมาชำระในวันทำสัญญาเป็นเงิน 80 ล้านบาทด้วย หลังทำสัญญาแล้วทางคณะกรรมการรังนกฯจะนำเงินดังกล่าวไปจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งจังหวัดพัทลุงตาม พ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ.2540 ต่อไป
สำหรับการลงนามในสัญญาดังกล่าวนี้มี นายสาธร พูลสวัสดิ์ อัยการจังหวัดพัทลุง นายพลรัช รองเลื่อน ปลัดจังหวัดพัทลุง นายณัฐกิตติ์ หนูรอด ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง และนายพิพัตร อมรวัตพงศ์ ทนายความของบริษัทสยามเนสท์ 2022 จำกัด ร่วมเป็นพยานด้วย และหลังจากการลงนามในสัญญาการสัมปทานรังนกฯเสร็จสิ้นแล้ว
ต่อมาช่วงบ่าย คณะทั้ง 2 ฝ่าย เดินทางลงไปยังเกาะรังนกฯ เพื่อสำรวจถ้ำรังนก ดำเนินการส่งมอบพื้นที่เกาะสัมปทานให้กับบริษัทสยามเนสท์ 2022 จำกัด ดำเนินการการจัดเก็บรังนกฯในพื้นที่ดังกล่าวตามสัญญาการสัมปทาน โดยกรรมการ ตัวแทนบริษัทสยามเนสท์ และผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบตามเกาะที่มีนกอีแอ่นทำรังภายในถ้ำ รวม 6 ถ้ำ จาก 107 ถ้ำที่นกอีเเอ่นทำรังวางไข่ กว่า 6 ชั่วโมง พบว่า จำนวน 6 ถ้ำที่เข้าสำรวจ มีร่องรอยการเข้าไปขโมยรัวนก จนไม่เหลือรังนกและแม่นกอีแอ่นทำรัง พบเพียง รังนกดำ 4 รัง แม่นกอีแอ่นบินวน ประมาณ 10 ตัวเท่านั้น ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์ที่ 6 สงขลา หรือป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ อบจ.พัทลุง เฝ้าดูตรงปากถ้ำ 1 ใน 6 ถ้ำ
จากนั้นตัวแทนบริษัท ลงบันทึกช่วยจำ และเสนอให้กรรมการที่ลงมารับส่งเกาะทราบว่าจากการสำรวจพบทุกถ้ำที่สำรวจไม่เหลือรังนกให้จัดเก็บ ต้องใช้เวลาพักฟื้นและฟื้นฟูถ้ำไม่ต่ำกว่า 1 ปี กว่านกอีเเอ่นกลับมาทำรังวางไข่เหมือนเดิม เพราะลูกนกถูกตัดวงจรการมีชีวิตไปช่วงเจ้าหน้าที่ดูแลก่อนมีการส่งมอบ.