ทั้งนี้ กรณี “เสียสละ” มีเสียง “วิพากษ์วิจารณ์กันเซ็งแซ่” หลังจาก “ในทางการเมือง” ได้มีการหยิบยกคำ ๆ นี้มา “กล่าวอ้างอย่างชวนอึ้ง??” ซึ่งผ่านมาหลายวันจนถึงวันนี้“เสียสละทางการเมืองอย่างที่เหมาะที่ควร” เกิดขึ้นหรือไม่?? นั่นก็ว่ากันไป… อย่างไรก็ดี ไหน ๆ ก็ไหน ๆ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนดูกรณี “เสียสละ” ที่น่าพินิจ…

“เสียสละ” จะทำก็ “ต้องทำแบบถูกต้อง”

ไม่เช่นนั้น…ไม่เพียงจะไม่ทำให้เกิดผลดี

ถ้า “เสียสละไม่ถูกต้องอาจมีผลเสียได้!!”

ทั้งนี้ เรื่อง “เสียสละ” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนดูวันนี้นี่เป็นกรณีในทาง “จิตวิทยาเด็ก-จิตวิทยาการเลี้ยงลูก” โดย ณ ที่นี้จะสะท้อนต่อข้อมูลจากแหล่งข้อมูลคือเว็บไซต์ https://aboutmom.co/features/kindness/31013/ ที่มีการเผยแพร่บทความน่าสนใจเกี่ยวกับการสอนความเสียสละให้เด็ก ๆ โดยเป็นบทความเรื่อง เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง? : 4 เหตุผลที่ควรสอนให้ลูกแบ่งปันแทนการเสียสละ ซึ่งบทความดังกล่าวนี้ได้เกริ่นถึงเรื่อง “การเสียสละ” ไว้ว่า…ครอบครัวที่มีลูกมากกว่า 1 คนนั้น น่าจะเคยเจอปัญหาบ่อย ๆ เกี่ยวกับการที่ “พี่น้องทะเลาะกัน” หรือ “พี่น้องแย่งของกัน” ซึ่งกรณีที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ…มีการลงไม้ลงมือใส่กัน  และเมื่อเกิดเหตุการณ์ “พี่น้องแย่งของกัน” เกิดขึ้น สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นตามมาก็คือ…

พ่อแม่นั้น “มักจะเลือกตัดปัญหา”…

โดย “สอนลูกว่าพี่ต้องเสียสละให้น้อง”

อย่างไรก็ตาม ในบทความดังกล่าวได้มีการชี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า…สำหรับ “การปลูกฝัง” ว่า “เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง” นั้น ในความเป็นจริงแล้วการสอนเช่นนี้ “อาจจะสร้างความเจ็บช้ำทางใจ” ให้กับลูกคนพี่ และยัง “อาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์”ระหว่างพี่น้องในอนาคตได้อีกด้วย ดังนั้น แทนที่จะสอนลูกว่าพี่ควรเป็นฝ่ายเสียสละให้น้อง คนเป็นพ่อแม่ควรจะลอง“เปลี่ยนความขัดแย้ง” ระหว่างสองพี่น้องจอมแย่ง “ให้กลายเป็นการรู้จักแบ่งปันกันและกัน” ด้วยการ…

สอนการ “แบ่งปัน” แทนคำว่าเสียสละ

นี่ “จะส่งผลดี-จะมีประโยชน์มากกว่า”

ขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้กรณีนี้ ที่ “เกี่ยวกับเด็ก ๆ” โดยที่ “ไม่เกี่ยวกับผู้ใหญ่หน้ามึน” คนใด-กลุ่มใด กับการสอนให้รู้จักคำว่า “แบ่งปัน” จะ “มีประโยชน์มากกว่า” อย่างไรนั้น?? ในบทความเดิมได้อธิบายเรื่องนี้เอาไว้ ดังต่อไปนี้…

“ช่วยให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวก” อาทิเวลาที่ลูกคนพี่เล่นของเล่น เมื่อน้องมาร้องขออยากเล่นบ้าง พ่อแม่ต้องไม่เผลอสอนคนพี่ให้ส่งของเล่นให้น้องด้วยคำว่าเสียสละ ต้อง ไม่ใช้คำว่า “ต้องเสียสละ” เด็ดขาด เพราะอาจสร้างความรู้สึกไม่พอใจ อึดอัด ต่อต้าน และทำให้ลูกคนพี่รู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสมอ ส่วนวิธีสอนโดยไม่ใช้คำว่าเสียสละ ก็ทำได้โดยเปลี่ยนจากการสอนว่าเป็นพี่ต้องเสียสละ เป็นสอนโดย ใช้คำว่า “ต้องแบ่งปัน” ให้พี่ช่วยสอนน้องเล่น หรือให้สลับกันเล่น รวมถึงต้องสอนคนน้อง สอนให้ “รู้จักขอ” และก็ “ต้องรู้จักรอ” ซึ่งการสอนมีเหตุผลจะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกให้ลูก

“ช่วยให้รู้จักการให้ด้วยความเต็มใจ” การสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างนิสัยเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ดังนั้น แทนที่จะบอกว่าเป็นพี่ต้องเสียสละ ก็ให้บอกเหตุผลที่พี่ควรแบ่งของเล่นกับน้องให้เขาเข้าใจ เช่น อธิบายว่าที่น้องงอแงเพราะอยากเล่นกับพี่ ควรจะช่วยน้องยังไงดี รวมถึงกล่าวชื่นชมเมื่อลูกคนพี่ยอมแบ่งปันของเล่นให้น้อง เพื่อให้เกิดความ…

รู้สึก “มีแรงบันดาลใจ…ภาคภูมิใจ”

ในการ “เป็นฝ่ายให้ด้วยความเต็มใจ”

“ช่วยทำให้รู้จักเคารพสิทธิตนเอง” โดยระหว่างการ “แบ่งปัน” กับการ“เสียสละ” นั้น มีความ “แตกต่างกัน” คือ…การแบ่งปันมักเกิดจากความรู้สึกอยากให้ด้วยความเต็มใจ ไม่ว่าจะเป็นการให้ทั้งหมดที่ตัวเองมี หรือให้เพียงเล็กน้อย แต่ การเสียสละ เด็กมักรู้สึกว่าถูกบังคับหรือฝืนใจให้ทำสิ่งที่ไม่เต็มใจ เช่น ยังอยากเล่นของเล่น แต่ต้องส่งให้น้อง เพราะกลัวถูกพ่อแม่ดุหรือทำโทษ ดังนั้น การสอนให้ลูกแบ่งปัน จะช่วยส่งเสริมให้ลูกเข้าใจเรื่องสิทธิของตัวเอง มากกว่าการสอนให้เสียสละ โดยพ่อแม่อาจจะช่วยเสนอทางเลือกให้ลูกตัดสินใจเอง เพื่อให้ลูกได้คิดแก้ปัญหาในแนวทางของตัวเองได้

“ช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดี” โดยการ “แบ่งปัน” นอกจากจะทำให้ผู้ที่ได้รับมีความสุขแล้ว ผู้ให้ก็จะรู้สึกมีความสุขอิ่มเอมใจ และเมื่อมีความสุข ก็จะทำให้ สารเซโรโทนิน (Serotonin) สารเคมีแห่งความสุข มีเพิ่มขึ้น ซึ่งสารนี้ช่วยให้อารมณ์ดี มีสมาธิ ความจำดี มีความมั่นคงทางอารมณ์ และเมื่อมีอารมณ์ที่เป็นไปในทิศทางบวก ก็จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดการซึมเศร้าด้วย …ทั้งนี้ เหล่านี้เป็นหลักสอนสำหรับพ่อแม่ กับสถานการณ์ที่ควรใช้คำว่าแบ่งปันสอนลูก…แทน “คำว่าเสียสละ” คำที่ในยุคนี้“กับการเมืองไทยก็เป็นประเด็นชวนอึ้ง?-ชวนคิด?”

ทั้ง “เสียสละ-แบ่งปัน” นี่ “สอนเด็กดีแน่”

แต่ก็ “ต้องสอนอย่างถูกต้องเหมาะสม”

จะได้ “ไม่สับสนหน้ามึนไปยันแก่!!!”.