เหตุการณ์เรือดำน้ำ ‘ไททัน’ ระเบิดระหว่างลงสู่ก้นทะเลเพื่อซากเรือไททานิกทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจเรือหรือยานดำน้ำสำรวจใต้ทะเลกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความอยากรู้อยากเห็น อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการคำอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุด

ก่อนหน้าที่จะมีเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ นั้น ทีมนักสำรวจหลายคนเคยใช้บริการเรือดำน้ำอีกลำหนึ่งที่ชื่อว่า ‘แอลวิน’ ซึ่งทำงานได้อย่างน่าทึ่งกับสถิติการดำลงสู่ใต้ทะเลลึกไม่ต่ำกว่า 5,000 รอบ และพาทุกคนกลับขึ้นมาบนผิวน้ำได้อย่างปลอดภัย

ลิซา เลวิน นักนิเวศวิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยซานดิเอโก ผู้เคยลงเรือดำน้ำเพื่อสำรวจทะเลลึกหลายสิบครั้งกับเรือดำน้ำหลายลำตลอดชีวิตการทำงานของเธอ และลงดำพร้อมกับ ‘แอลวิน’ มาแล้วถึง 53 ครั้ง กล่าวยกย่องว่านี่คือเรือสำรวจใต้น้ำที่เหนือชั้นกว่าเรือลำอื่น ๆ

เลวิน อธิบายว่า แอลวิน เป็นเรือสำรวจใต้น้ำที่เชื่อถือได้ ให้ความปลอดภัยและช่วยให้เธอทำงานได้สำเร็จหลายอย่าง ซึ่งอาจถือได้ว่ามันเป็นเรือดำน้ำที่มีส่วนมากที่สุดในการศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งใต้ทะเลลึก

แอลวิน เป็นหนึ่งในเรือสำรวจใต้ทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก สร้างขึ้นในปี 2507 จุผู้โดยสารและลูกเรือได้ 3 คน ที่สำคัญคือมันเป็นเรือสำรวจใต้น้ำลำแรกที่พามนุษย์กลุ่มแรกลงไปถึงซากเรือไททานิกเมื่อปี 2529 โดยมี โรเบิร์ต บัลลาร์ด นักถ่ายภาพใต้ทะเลเป็นผู้นำทีม

เจ้าเรือสำรวจที่มีรูปร่างอ้วนป้อมนี้มีระบบไอพ่นปรับทิศทางถึง 7 จุดและติดตั้งมือกลไว้ 2 ชุด ตลอดเวลาที่ผ่านมา มันลงดำใต้ทะเลลึกมาไม่ต่ำกว่า 5,000 ครั้ง บางครั้งลงไปในจุดที่ลึกยิ่งกว่าจุดที่เรือไททานิกจมเสียอีก 

รูปลักษณ์ของเรือแอลวินในยุคเริ่มแรก

นอกจากนี้มันยังมีส่วนในการค้นสำคัญ ๆ ใต้ทะเลหลายครั้ง เช่น การค้นพบระเบิดไฮโดรเจนซึ่งตกจากเครื่องบินรบ ลงไปอยู่ใต้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ความลึกเกือบ 3,000 ฟุต เมื่อปี 2509 และเป็นพาหนะพาทีมงานลงไปถ่ายภาพเทือกเขาใต้มหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งเป็นเทือกเขาที่ยาวที่สุดในโลกเมื่อปี 2517 

เรือสำรวจแอลวินซึ่งเป็นสมบัติของกองทัพเรือสหรัฐ จะโดนแยกส่วนเพื่อตรวจสอบและประกอบกลับเข้าไปใหม่ทุก ๆ 5 ปี และต้องผ่านการทดสอบเพื่อให้ได้รับการรับรองจากกองทัพเรือสหรัฐ 

การอัพเกรดครั้งล่าสุดของมันสำเร็จเรียบร้อยในปี 2564 ซึ่งมีการปรับปรุงเรื่องช่องมอง ระบบแสงสว่าง ระบบรับภาพ ระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับและระบบบังคับเรือที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด

ทีมวิศวกรของสถาบันวูดส์ โฮล โอเซียโนกราฟิก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลปฏิบัติการของเรือลำนี้จะต้องทดสอบชิ้นส่วนทุกชิ้นของเรือ แอลวิน ไม่ว่าจะเป็นชิ้นเล็กขนาดไหนก็ตาม วัสดุกว่า 60% ที่ใช้สร้างเรือลำนี้เป็นวัสดุที่ได้รับการรับรองโดยกองทัพเรือสหรัฐ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและระบบช่วยชีวิต ขณะที่โครงสร้างหลักของมันทำจากไททาเนียมทั้งหมด

บรูซ สทริครอตต์ ผู้บังคับเรือแอลวินกล่าวว่า เรือลำนี้สร้างขึ้นโดยมีแนวคิดหลักว่าจะต้องสามารถพาคนใน “กลับบ้าน” ได้อย่างปลอดภัย.

ที่มา : insider.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES