ผู้นำกัมพูชาประกาศก่อนการเลือกตั้ง ว่าพล.อ.ฮุน มาเนต บุตรชายคนโต วัย 45 ปี คือทายาทการเมือง โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของพรรคประชาชนกัมพูชา ( ซีพีพี ) มีมติเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 สนับสนุน พล.อ.ฮุน มาเนต ในฐานะ “ตัวแทนพรรคเพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” แต่ไม่ได้ระบุช่วงเวลาอย่างชัดเจนว่าเมื่อใด ขณะที่สมเด็จฮุน เซน เน้นย้ำการสนับสนุนบุตรชาย ให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมือง “ผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง”
ท่าทีดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณอย่างมีนัยจากสมเด็จฮุน เซน ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เจ้าตัวจะยังคงมีบทบาทและอิทธิพลทางการเมือง ต่อให้หายไปจากฉากหน้าของการเมืองกัมพูชาแล้วก็ตาม โดยสมเด็จฮุนเซนถึงขั้นเคยกล่าวว่า “ไม่มีใครหน้าไหนสามารถขัดขวางเส้นทางของฮุน เซน หรือ ฮุน มาเนต”
ขณะที่ผลการเลือกตั้งวันที่ 23 ก.ค. แทบไม่ต้องคาดเดาหรือลุ้นกันให้เหนื่อย เนื่องจากแทบไม่มี “พรรคฝ่ายค้านอย่างแท้จริง” แม้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีอยู่ไม่กี่พรรค ส่งผู้สมัครได้ตามกติกา อย่างไรก็ตาม พรรคแสงเทียน ที่ถือเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ เคยเป็นส่วนหนึ่งของพรรคกู้ชาติกัมพูชา ( ซีเอ็นอาร์พี ) ของนายสม รังสี ซึ่งตอนนี้ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส และนายเกิม สุขา ซึ่งตอนนี้ถูกกักบริเวณ โดยศาลฎีกาของกัมพูชา สั่งยุบพรรคซีเอ็นอาร์พี เมื่อเดือน พ.ย. 2560 ส่งผลให้พรรคซีพีพี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน ก.ค. 2561 “ได้อย่างง่ายดาย”
สำหรับกัมพูชา ประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำคนเดียวเป็นเวลาต่อเนื่องนานหลายทศวรรษ การเลือกตั้งเป็นมากกว่าการตัดสินผู้ชนะ “ตามกลไกระบอบประชาธิปไตย” หลายฝ่ายจึงให้ความสำคัญไปที่ กระบวนการถ่ายโอนอำนาจภายในพรรคซีพีพีมากกว่า โดยการแสดงออกอย่างชัดเจนมากขึ้นของสมเด็จฮุน เซน คือการเป็นผู้ส่งมอบธงสัญลักษณ์ของพรรคซีเอ็นอาร์พี ในการทำหน้าที่ผู้นำแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งรอบนี้
พล.อ.ฮุน มาเนต กล่าวถึงการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ ว่าตราบใดที่พรรคซีพีพียังได้รับความไว้วางใจจากชาวกัมพูชา ตราบใดที่พรรคซีพีพียังคงรักษาสันติภาพและความสมดุลเอาไว้ได้ ทุกภาคส่วนจะใช้ชีวิตอย่างสงบสุข
การเตรียมถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองลักษณะนี้ หากมองในมุมหนึ่งไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ในเกาหลีเหนือ มากกว่า “การเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง” สมเด็จฮุน เซน มีบุตร 5 คน โดยบุตรชายทั้งสามคนมีบทบาททางการเมืองมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ชัดเจนที่สุดตอนนี้ คือพล.อ. ฮุน มาเนต ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารพรรคซีพีพี และลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกด้วย
แม้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ และมหาวิทยาลัยนิวยอร์กของสหรัฐ และมหาวิทยาลัยบริสทอลของสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีสิ่งใดสามารถเป็นหลักประกันได้ว่า พล.อ.ฮุน มาเนต จะมีแนวคิดของการปฏิรูปทางการเมือง “อย่างสร้างสรรค์”
ต่อให้ผู้นำกัมพูชาและพรรคซีพีพีไม่จัดการเปิดตัว พล.อ.ฮุน มาเนต “อย่างเป็นทางการ” พรรคซีพีพีของสมเด็จฮุน เซน ดำเนินการถ่ายโอนอำนาจเป็นการภายในอย่างเงียบเชียบมานานแล้ว สังเกตได้จากการที่สมาชิกพรรคซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ หรือมีอายุน้อย มีบทบาทมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งภายในพรรคซีพีพี และการมีตำแหน่งในรัฐบาล
นอกจากนี้ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันลงคะแนน ชัดเจนว่ารัฐบาลกัมพูชาพยายาม “กระชับอำนาจ” ทั้งด้วยการเร่งผ่านกฎหมายตัดสิทธิผู้ที่ไม่ลงคะแนน จากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองในอนาคต และการกวาดจับสมาชิกพรรคแสงเทียนที่ยังคงมีอยู่ ด้วยข้อหาว่า “ยุยงส่งเสริมให้มีการทำลายบัตรเลือกตั้ง” และการตัดสิทธิทางการเมืองของนายสม รังสี เป็นเวลา 25 ปี จากข้อหาเดียวกัน
การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ก.ค. ไม่ต่างอะไรกับ “บทละครซึ่งเขียนไว้เสร็จสมบูรณ์แล้ว” ว่าเป็นขั้นตอนช่วงสุดท้ายของการถ่ายโอนอำนาจทางการเมือง ในอนาคตกัมพูชา อาจไม่ได้อยู่ภายใต้การบริหารและการปกครองโดยผู้นำคนเดียวเป็นเวลานานหลายสิบปีอีกต่อไป แต่อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “ยุคสมัยแห่งการยากคาดเดา” และละครเรื่องใหม่อาจไม่ใช่ “ภาคต่อ” ของ “The Son Under the Full Moon” หรือ “ลูกชายใต้เดือนเพ็ญ” ซีรีส์มหากาพย์ความยาว 80 ตอน ถ่ายทอดอัตชีวประวัติของสมเด็จฮุน เซน ซึ่งออกอากาศ 1 เดือน ก่อนถึงวันเลือกตั้ง.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP