จากข้อมูล “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” จุดเด่นของการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานทดแทน การเผาไหม้ไฮโดรเจนไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งถือเป็นข้อสำคัญที่สุดในแง่การลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเผาไหม้ไฮโดรเจนให้ค่าพลังงานต่อหน่วย (energy density) สูง โดยในการเผาไหม้พลังงานเชื้อเพลิง 1 กิโลกรัมเท่ากัน ไฮโดรเจนให้พลังงาน 120 ล้านจูลส์ แก๊สโซลีน 45.8 ล้านจูลส์ ดีเซล 45.5 ล้านจูลส์ แต่หากวัดเป็นพลังงานความร้อน ไฮโดรเจนสามารถให้ความร้อนสูงถึง 2,100 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สามารถใช้ทดแทนการเผาไหม้ก๊าซธรรมชาติในอุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์ และแก้ว ได้

ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ภาครัฐมีนโยบายเกื้อหนุนการลงทุนในไฮโดรเจนมากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี สำหรับกิจการการผลิตกรีนไฮโดรเจน กรีนแอมโมเนีย บลูไฮโดรเจนที่ใช้เทคโนโลยี CCUS และการผลิตไฟฟ้าและไอนํ้าจากไฮโดรเจน โดยในไทยยังอยู่ในระยะเริ่มลงทุน จากธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม

โดยธุรกิจที่เริ่มลงทุนจะอยู่ในกลุ่มบริษัทด้านพลังงานขนาดใหญ่เพื่อผลิตกรีนไฮโดรเจน และบลูไฮโดรเจนควบคู่กับการติดตั้งเทคโนโลยี CCUS เพื่อนำไฮโดรเจนที่ได้ไปใช้ผลิตไฟฟ้าใช้ในบริษัท ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงในรูปแบบ Synthetic Fuel เพื่อใช้งานต่อได้โดยไม่ต้องผ่านการขนส่งหรือแปรรูปไฮโดรเจนไปใช้งานที่อื่น โดยมูลค่าตลาดกรีนไฮโดรเจนของไทยในปี 64 มีมูลค่า 7.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 26.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 73 ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ย (CAGR) 15.5%

“การนำไฮโดรเจนเพื่อเป็นพลังงานสะอาด ทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคธุรกิจเป็นการทั่วไป นอกเหนือจากบริษัทในกลุ่มพลังงานขนาดใหญ่ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามและดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อให้การใช้งานมีความแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งในระยะแรกคงเน้นไปที่เกรย์และบลูไฮโดรเจนเป็นหลัก”.